แคปีกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. ยอดอ่อนมีขนหนาแน่น กิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยม มีขนสีนํ้าตาลอ่อน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามยาว ๑๘-๓๐ ซม. ก้านใบยาว ๒-๖ ซม. ก้านและแกนใบมีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลอ่อน ใบย่อย (๙-)๑๑-๑๕ ใบ รูปรีถึงรูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอก กว้าง (๑-)๒-๔ ซม. ยาว (๓-)๕-๘(-๑๐) ซม. ปลายมนหรือแหลมถึงเรียวแหลมโคนสอบเรียวและมักเบี้ยว ขอบเรียบถึงเป็นคลื่น ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนประปราย ด้านล่างสีจางกว่าและมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างเป็นสันนูน ก้านใบย่อยด้านข้าง ยาวไม่เกิน ๕ มม. มีขนหนาแน่น ก้านใบย่อยใบปลาย ยาว ๕-๖ มม. มีขนหนาแน่น
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาว ๑๐-๒๐ ซม. ช่อ ย่อยคล้ายช่อกระจุก มีดอกจำนวนมาก ใบประดับรูปคล้ายใบประกอบลดขนาด ยาวประมาณ ๒ ซม. หรือรูปใบหอกถึงรูปแถบ ยาว ๒-๓ มม. ดอกเล็ก สีขาวก้านดอกยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๐.๕-๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยถึงรูประฆัง ปลายตัดหรือหยักแหลมเล็ก ๆ ๔ หยัก มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๗ มม. อับเรณูรูปขอบขนานยาวประมาณ ๒ มม. โผล่พ้นปากหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีค่อนข้างกลม ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ยาวประมาณ ๐.๕ มม.
ผลแบบผลปีกเดียว ปลายผลเป็นปีกรูปช้อน ผลรวมปีกกว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๓-๔ มม. มี ๑ เมล็ด
แคปีกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นในป่าดิบ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่พม่าและจีน
ประโยชน์ เปลือกของรากใช้เป็นสมุนไพร.