เตยน้ำ

Pandanus capusii Martelli

ไม้พุ่ม ทรงพุ่มแผ่กางออก มีรากอากาศน้อย ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม ทรงรูปไข่แกมรูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลอมเหลือง มีผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก คล้ายรูปทรงกระบอกแคบ มี ๕-๖ เหลี่ยม ผนังผลบาง ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใยละเอียด ผนังผลชั้นในบางแต่แข็ง มียอดเกสรเพศเมียแข็งเป็นหนาม ติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

เตยน้ำเป็นไม้พุ่ม สูง ๓-๘ ม. ทรงพุ่มแผ่กางออก ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. เปลือกต้นสีน้ำตาล มีหนามแหลม ยาวได้ถึง ๑ ซม. มีรากอากาศน้อย กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. มีหนาม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาวประมาณ ๙๐ ซม. ปลายเรียวแหลมยาว โคนหุ้มลำต้น ขอบใบมีหนามไปถึงโคนใบ หนามยาวได้ถึง ๒ มม. สีม่วงหรือสีดำ แต่ละหนามห่างกัน ๓-๙ มม. หนามบริเวณใกล้ปลายใบมีขนาดเล็กกว่าและเรียงถี่กว่า แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นร่อง ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบด้านล่างมีหนามคล้ายที่ขอบใบ เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว มีประมาณ ๕๗ เส้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. กาบช่อดอกสีขาวหรือสีขาวนวล รูปคล้ายใบ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๑๐-๔๕ ซม. ปลายแหลม ขอบหยักซี่ฟันละเอียด ดอกเพศผู้จำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดที่โคน ยาวประมาณ ๕ มม. ก้านชูอับเรณูที่แยกเป็นอิสระสั้น อับเรณูสีขาว รูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ห้อยลง ปลายมีรยางค์เป็นติ่งหนาม ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ทรงรูปไข่แกมรูปทรงค่อนข้างกลม ออกเดี่ยว ก้านช่อดอกกว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๒๐-๓๕ ซม. กาบช่อดอกสีขาวนวล รูปคล้ายใบ ขอบหยักซี่ฟันละเอียด มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอยู่ที่ปลาย รูปคล้ายหนาม ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นร่องทางด้านบน

 ผลแบบผลรวม ทรงรูปไข่แกมรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๖-๘ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. สีน้ำตาลอมเหลือง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก คล้ายรูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒.๕-๓.๒ ซม. มี ๕-๖ เหลี่ยม ผนังผลบาง ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใยละเอียด ผนังผลชั้นในบางแต่แข็ง มียอดเกสรเพศเมียแข็งเป็นหนาม ติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 เตยน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก พบในป่าบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและกัมพูชา

 ประโยชน์ ในเวียดนามมีรายงานการใช้ใบในการเตรียมยาแก้ไข้ในเด็ก (Stone, 1983).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus capusii Martelli
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
capusii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Martelli, Ugolino
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1860-1934)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์