แคป่าเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๗-๑๕ ม. เรือนยอดแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ กิ่งและยอดอ่อนมีขนสีเหลืองอมเทา
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้าม ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ก้านใบยาว ๖-๘ ซม. หูใบเทียมเป็นแผ่นกลม ขนาดประมาณ ๒ ซม.หรือไม่มี ใบย่อย ๑๑-๑๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๘.๕ ซม. ยาว ๗-๒๔ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหางโคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยถี่หรือเรียบ เกลี้ยง เส้นแขนง ใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ก้านใบย่อยบนสุดยาว ๐.๖-๔ ซม. และก้านใบย่อยคู่ล่างยาว ๑-๒ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีขน ดอกสีแดงอมนํ้าตาล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายกาบ ยาว ๓.๒-๔.๓ ซม. ด้านหนึ่งเว้าลึกเปิดออกยาวเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ปลายโค้งเรียวแหลมส่วนบนมีขนหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปกรวยปากกว้าง ยาว ๖-๖.๕ ซม. ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด มี ๕ แฉก รูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๓.๖ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. ปลายมนด้านนอกมีต่อมประปราย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก อาจมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็ก ๑ เกสร จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปคล้ายทรงกระบอกแบนด้านข้าง ห้อยลง โค้งหรือเกือบตรง กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒๕-๔๓ ซม. ปลายสอบมน ผิวขรุขระเป็นลุ่มหรือปุ่มทั่วไป มีขนประปรายหรือเกือบเกลี้ยง เมล็ดจำนวนมากอัดแน่น ผิวค่อนข้างเรียบ มีปีกด้านข้าง ข้างละ ๑ ปีก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แคป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามบริเวณชายป่าดิบแล้งและป่าทุ่งหญ้าระดับตํ่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม.