ขี้อ้นชนิดนี้เป็นไม้พุ่มเดี้ย สูงไม่เกิน ๑ ม. ทุกส่วนมีขนรูปดาว ลำต้นและก้านใบสีม่วง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกลม รูปไข่ หรือรูปหัวใจ กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายมน โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบจักมนหรือแหลม เส้นโคนใบ ๓-๗ เส้น ที่เส้นกลางใบใกล้โคนใบด้านใต้ใบมีต่อมกลม ๆ ๑ ต่อม แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนแข็งรูปดาวเล็ก ๆ ทั้งด้านบนและด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. หูใบเป็นรูปแถบเล็ก ๆ ยาว ๓-๔ มม. ใบบริเวณปลายกิ่งลดรูปลงจนมีขนาดเล็กคล้ายใบประดับ
ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบใกล้ยอดค่อนข้างแน่น สีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. ริ้วประดับเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังค่อนข้างยาวจนถึงรูปคนโท ยาว ๗-๙ มม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. โตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเป็นผล ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกสามเหลี่ยมค่อนข้างยาว ปลายแหลม กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๔-๗ มม. ขอบริ้วประดับทั้งด้านในและด้านนอกมีขนรูปดาวปนกับขนธรรมดา กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆังจนถึงรูปหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปแถบปลายแหลม ๕ แฉก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ปลายมน แต่ละกลีบกว้างยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดเป็นหลอดยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูก้านสั้นติดทั่วหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเสมอกับหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแยก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. เมื่อแก่แตกเป็น ๕ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมีลายเส้นนูนแบบร่างแห มีขนรูปดาวเล็ก ๆ ไม่แตก มีเมล็ด ๑ เมล็ด เมล็ดรูปไต สีแดงอมน้ำตาลจนถึงสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีขนรูปดาว
ขี้อ้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นกลางแจ้งบนดินแทบทุกชนิด ทนแล้งได้ดี ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.