ก่วมเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๒๐-๒๕ ม. โคนต้นเป็นพอน เปลือกสีเทาแกมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวเล็กน้อย เปลือกในสีชมพู มีน้ำเลี้ยงใสรสเฝื่อน กิ่งอ่อนมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับฉาก รูปขอบขนาน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๙-๑๖ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบไม่แยกเป็นแฉก เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น คู่ล่างสุดแยกออกจากโคนใบแผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างมีคราบสีขาวหรือสีเงิน ใบอ่อนมีขนสีขาวประปราย ขนร่วงง่าย ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบยาว ๒.๔-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ๆ ออกที่ปลายกิ่งพร้อมกับใบ ยาว ๔-๘ ซม. มีขนประปราย แต่ละช่อมีดอกจำนวนมากสีเหลืองอมเขียว เมื่อบานเต็มที่กว้าง ๖-๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๒-๓ มม. กลีบดอกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๓-๔ มม. โคนกลีบกว้างไม่มีก้านกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๘ อัน ติดอยู่ภายในจานฐานดอกยาวพ้นรังไข่เล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนยาวหนาแน่นมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ อันลงมาเกือบถึงรังไข่
ผลแบบผลปีกเดียวแฝด ออกเป็นช่อ มีจำนวนมากแต่ละผลติดกันเป็นคู่ที่ส่วนฐาน ตัวผลเป็นเหลี่ยม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ผนังด้านนอกมีขนเล็กน้อยหรือค่อนข้างเกลี้ยง ผนังด้านในมีขนยาวหนาแน่น ส่วนบนเป็นปีกแข็ง กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายปีกมน กว้างที่สุดตรงกลาง โคนปีกตรงส่วนที่ติดกับตัวผลคอดเว้าขนาดแคบกว่าความกว้างของผล ปีกทั้งคู่จรดกันหรือถ่างออกเล็กน้อยคล้ายรูปเกือกม้า
ก่วมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบเขาหรือป่าดิบแล้งใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๑,๓๐๐ ม. ขึ้นได้ทั้งบนภูเขาหินทรายและตามเขาหินปูน ในต่างประเทศพบตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ภาคใต้ของประเทศจีน ลาว และเวียดนาม ตอนเหนือ
พรรณไม้ของวงศ์ Aceraceae อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับชนิด Acer oblongum และมีชื่อพื้นเมืองว่า ก่วม เช่นเดียวกัน คือ ชนิด A. laurinum Hassk. ชื่อพ้อง A. niveum Blume, A. decandrum Merr. แต่ A. laurinum แตกต่างจาก A. oblongum ตรงที่ช่อดอกออกตามกิ่งด้านข้างไม่มีใบติดอยู่ด้วย ผลรูปไข่ ไม่เป็นเหลี่ยม ผนังด้านในของผลเกลี้ยง ในประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบชนิด A. laurinum ขึ้นอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ม. ขึ้นไป ทางภาคใต้พบขึ้นอยู่ได้บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง ๒๐๐ ม. (Shimizu, 1981) พรรณไม้ชนิด A. laurinum มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย เป็นพรรณไม้ของวงศ์ Aceraceae เพียงชนิดเดียวที่แพร่พันธุ์จากภูมิภาคตอนเหนือข้ามเขตเส้นศูนย์สูตรลงไปทางใต้.