แตงโม

Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum. et Nakai

ชื่ออื่น ๆ
แต่เต้าส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตงจีน (ใต้); มะเต้า (เหนือ); อุลัก (เขมร-บุรีรัมย์)
ไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นทอดนอน มีขนนุ่มสีเทา มือจับแยกเป็น ๒-๓ แขนง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวตามซอกใบ สีเหลือง ผลแบบผลเปลือกเหนียว คล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี สีเขียวค่อนไปทางสีเขียวอมเทาหรือสีเหลือง ผิวมีลายหรือไม่มี เนื้อผลสีแดงหรือสีเหลือง พบน้อยที่มีสีขาว เมล็ดแบน สีขาว สีน้ำตาล หรือสีค่อนข้างดำ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขอบเมล็ดหรือไม่มี

แตงโมเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นทอดนอน ยาวได้ถึง ๓ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. มีขนนุ่มสีเทา ขนยาว ๒-๕ มม. มือจับแยกเป็น ๒-๓ แขนง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายโค้งมนหรือแหลม โคนรูปหัวใจ แผ่นใบแยกเป็นแฉกค่อนข้างลึกแบบขนนก ๓-๕ แฉก ขอบหยักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ด้านบนเกือบเกลี้ยงด้านล่างสากเนื่องจากมีผลึกหินปูนขนาดเล็ก และมีต่อม


กระจายไม่เด่นชัด เส้นโคนใบ ๓ เส้น ก้านใบยาว ๓-๑๒ ซม. มีขนนุ่ม

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวตามซอกใบ สีเหลือง ใบประดับคล้ายใบ รูปขอบขนาน ยาว ๐.๕-๒ ซม. ปลายมน โคนแคบ มีต่อมประปรายไม่เด่นชัด ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๑-๘ ซม. ฐานดอกเป็นหลอดรูประฆังยาว ๓-๔ มม. มีขนอุยปกคลุม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ ยาว ๓-๕ มม. กางออก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายมน ขอบเรียบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดอยู่ใกล้ฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง อับเรณูชิดกันเป็นรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. แกนอับเรณูแผ่ราบ จานฐานดอกไม่เด่นชัด ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๐.๔-๔ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. มีขนคลุม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ลักษณะอื่น ๆ คล้ายดอกเพศผู้

 ผลแบบผลเปลือกเหนียว คล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวค่อนไปทางสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี ยาว ๓-๓๐ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. ผิวเรียบ มีลายหรือไม่มี ผนังผลชั้นนอกเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผนังผลชั้นกลางสีขาว ผนังผลชั้นในเป็นเนื้อฉ่ำสีแดงหรือสีเหลือง พบน้อยที่มีสีขาว ก้านผลยาว ๒-๗ ซม. เมล็ดอ่อนสีขาว เมื่อแก่สีน้ำตาลหรือสีค่อนข้างดำ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. แบน มีขอบเมล็ดหรือไม่มี ผิวค่อนข้างเรียบ มีจำนวนมาก

 แตงโมเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วทุกภาค อาจพบในสภาพธรรมชาติตามพื้นที่รกร้าง ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบปลูกทั่วไป

 ประโยชน์ นิยมรับประทานผลแก่ ยอดอ่อนและผลอ่อนใช้ประกอบอาหาร เมล็ดให้น้ำมันและโปรตีนต้มและคั่วจนแห้งรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงโม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum. et Nakai
ชื่อสกุล
Citrullus
คำระบุชนิด
lanatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter
- Matsumura, Jinzô
- Nakai, Takenoshin (Takenosin)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Matsumura, Jinzô (1856-1928)
- Nakai, Takenoshin (Takenosin) (1882-1952)
ชื่ออื่น ๆ
แต่เต้าส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตงจีน (ใต้); มะเต้า (เหนือ); อุลัก (เขมร-บุรีรัมย์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์