เตยชะงดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นเรียว ยาวได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑.๑ ซม. เกลี้ยง มักเลื้อยพันขึ้นบนต้นไม้อื่นหรือพาดเลื้อยอยู่บนพื้นดิน มีรากอากาศและสร้างรากพิเศษจำนวนมากตลอดความยาวลำต้นเพื่อช่วยยึดเกาะกับต้นไม้หรือพื้นที่ที่ขึ้นอยู่
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๓-๒๐ ซม. ปลายแหลมคม พบน้อยที่ปลายค่อย ๆ เรียวแหลมยาว โคนแผ่เป็นกาบแคบ ขอบเกือบเรียบ ยกเว้นบริเวณส่วนปลายและส่วนโคนหยักซี่ฟันห่าง ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่าและมักมีนวล เส้นใบจำนวนมาก เรียงขนานถี่ตามยาว กาบใบมีติ่งใบข้างละ ๑ ติ่ง บางคล้ายเยื่อ ใส ไม่มีสี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๓-๖.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงกลมมน ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันเล็กน้อย หุ้มรอบลำต้น
ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบคล้ายช่อซี่ร่ม มี ๒-๕ ช่อ ออกที่ปลายยอด มักเรียงเป็นวงรอบ กาบช่อดอกรูปเรือหรือรูปใบหอก สีเหลือง สีส้ม หรือสีแดงอมส้ม กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายจักฟันเลื่อย มักเรียงเป็น ๓ วง มีกลิ่นแรง กาบช่อดอกเพศผู้มักร่วงหลังดอกบาน ส่วนในช่อดอกเพศเมียมักติดทนจนเป็นผล ช่อดอกเพศผู้ประกอบด้วยช่อเชิงลดอัดแน่นรูปทรงกระบอก สีส้มอมแดง กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๗.๕ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก สีออกขาว เรียงอัดกันแน่นบนแกน ช่อดอกเพศเมียประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงกระบอก มี ๓-๔ ช่อ กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. ดอกเพศเมียเรียงอัดกันแน่นบนแกน ก้านช่อดอกอวบหนาและขรุขระ กว้าง ๓.๕-๔.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกเพศเมียมักมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็ก เกสรเพศเมีย ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ยอด
ผลแบบผลรวม รูปทรงกระบอก ก้านช่อผลสั้นและแข็ง ยาวน้อยกว่า ๒ ซม. ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดจำนวนมาก ยาว ๑-๑.๕ มม. ผลย่อยส่วนบนแข็ง ส่วนล่างมีเนื้อนุ่ม ผนังผลบางเป็นเยื่อ เมล็ดมีจำนวนมาก
เตยชะงดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นพาดเลื้อยตามต้นไม้ริมลำธารในป่าดิบชื้น ป่าพรุ หรือป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย บอร์เนียว สุมาตรา และชวา.