จีง้ำ

Scyphiphora hydrophyllacea C. F. Gaertn

ชื่ออื่น ๆ
ซีง้ำ, ซีฮำ, ฝาดล่า, รังแค (ใต้)
ไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามซอกใบ ดอกรูปดอกเข็มสีขาวหรือชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกเมล็ดเล็ก รูปเรียว

จีง้ำเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๕ ม. บางครั้งมีรากค้ำยันเล็ก ๆ เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องตามยาว เรือนยอดค่อนข้างทึบ กิ่งแยกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ กิ่งอ่อนสีแดง เป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาวและเป็นข้อ ตายอดรูปไข่และมีน้ำมันเยิ้มเมื่อแห้ง



 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับกว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น แต่ละเส้นค่อนข้างเหยียดตรงแล้วจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ พอสังเกตเห็นได้ทางด้านบน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัดหูใบเป็นวงสั้น ๆ บริเวณข้อ ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. เมื่ออ่อนมีสีแดง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามซอกใบดอกรูปดอกเข็ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔-๕ แฉก กลีบดอกสีขาวหรือชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๔ มม.ปลายหลอดแยกเป็นกลีบรูปขอบขนาน ๔-๕ กลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เมื่อบานเต็มที่กลีบจะพับกลับ เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร อับเรณูเรียวแคบปลายแหลม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนสอบ ผลมีสันตามยาว ๘ สัน ปลายสุดมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก รูปเรียว

 จีง้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าชายเลน ที่สูงใกล้ระดับทะเล ในต่างประเทศพบที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคมาเลเซียและออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จีง้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scyphiphora hydrophyllacea C. F. Gaertn
ชื่อสกุล
Scyphiphora
คำระบุชนิด
hydrophyllacea
ชื่ออื่น ๆ
ซีง้ำ, ซีฮำ, ฝาดล่า, รังแค (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางนัยนา วราอัศวปติ และ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย