กลึงกล่อมเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๒-๕ ม. แตกกิ่งต่ำเรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศเป็นตุ่มสีเทาอมชมพูกระจัดกระจายทั่วไป ตามกิ่งแก่ขนาดใหญ่หรือเปลือกต้นมักย่นเป็นสันนูนขรุขระไม่เป็นระเบียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๗-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบแต่มักย่นเป็นคลื่นหรือม้วนงอขึ้นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรืออาจมีขนสั้น ๆ ตามเส้นกลางใบ ใบแห้งด้านบนสีเทา ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ก้านใบยาว ๑-๓ มม.
ดอกออกเดี่ยวตามด้านข้างของกิ่ง ตรงข้ามหรือเยื้องกับใบ หรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย สีเหลืองอมน้ำตาลก้านดอกเรียว ยาว ๑.๓-๓.๒ ซม. ใบประดับเล็ก ติดอยู่ใกล้โคนก้าน เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๖ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ ด้านนอกมีขน กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในยาวประมาณ ๑ ซม. และใหญ่กว่าชั้นนอก กลีบด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้เล็ก มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม เกสรเพศเมียมีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด
ผลเป็นผลกลุ่ม มีจำนวนมาก อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลยาว ๒-๔ ซม. ผลย่อยกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ผิวเรียบ สีเขียว เมื่อสุกสีแดง ก้านผลยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด
กลึงกล่อมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค แต่ทางภาคใต้พบน้อย ขึ้นตามพื้นที่โล่งที่เป็นดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำได้ดี ตามฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือตามที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์.