ชิงช้าสะแกราช

Tinospora siamensis Forman

ชื่ออื่น ๆ
เครือหางหนู (พิษณุโลก)
ไม้เลื้อย เถารูปทรงกระบอกหรืออาจเป็นสันบ้าง มีช่องอากาศขนาดเล็กนูนเด่นชัดกระจายอยู่ทั่วไป มียางใส ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปสามเหลี่ยม รูปขอบขนาน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้นช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามเถาแก่เหนือรอยแผลใบ ดอกเล็ก สีเขียว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง

ชิงช้าสะแกราชเป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง ๑๐ ม. พบบ้างที่ยาว ๑๕ ม. เถารูปทรงกระบอกหรืออาจเป็นสันบ้าง มีช่องอากาศขนาดเล็กนูนเด่นชัดกระจายอยู่ทั่วไป มียางใส มีรากอากาศเรียวยาวจำนวนมากเถาแก่กว้างได้ถึง ๒ ซม. และมีเนื้อแข็ง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปสามเหลี่ยม รูปขอบขนานรูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๖.๕-๑๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนตัดหรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบาง เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ที่ซอกของเส้นโคนใบมักมีต่อม ก้านใบยาว ๒-๖ ซม. ปลายและโคนก้านมักอวบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจะออกตามเถาแก่เหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว ๓-๖ ซม. ก้านช่อสั้นมาก ดอกมักอยู่เป็นกระจุกเรียงห่าง ๆ ตลอดแกนช่อ กระจุกละ ๑-๓ ดอก ดอกเพศผู้มีขนาดเล็ก สีเขียว ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๓ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวเข้ม มี ๖ กลีบ เรียง ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ชั้นใน ๓ กลีบ รูปรีกว้างและยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบดอกสีเขียวมี ๖ กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๓ มม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาวประมาณ ๐.๘ มม. อับเรณูเล็กมาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ รังไข่ แยกอิสระ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง

 ชิงช้าสะแกราชเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออก พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงช้าสะแกราช
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tinospora siamensis Forman
ชื่อสกุล
Tinospora
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forman, Lewis Leonard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1929-1998)
ชื่ออื่น ๆ
เครือหางหนู (พิษณุโลก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์