ขี้อ้นชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. มีขนสากทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๖ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนและมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยซ้อนไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบบาง มีขนสากทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่างเล็กน้อย เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนยาวสาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว ม่วง และน้ำเงินแกมขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ รูปลิ่ม ด้านข้างกลีบที่ค่อนไปทางปลายมีจะงอยเล็กข้างละ ๑ อัน กลีบกว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดล้อมรอบก้านชูเกสรเพศเมีย ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณูเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนยาวแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวและยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียมี ๕ พู
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกโค้ง มีขนสากประปราย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. เป็นพูตามยาว ผล ๕ พู ผลแก่แตกตามรอยตะเข็บเป็น ๕ แฉก
ขี้อ้นชนิดนี้เป็นพรรณไม้แถบเอเชีย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในจีนตอนใต้และเวียดนาม