แคธารโบกเป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๐ ม. แตกกิ่งตํ่า เป็นพุ่มจนเกือบถึงปลายลำต้น เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องลึก เป็นสะเก็ด หรือเป็นแผ่นขนาดใหญ่
ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้นปลายคี่เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๔๐-๘๐ ซม. ก้านใบยาว ๔-๕ ซม. แกนกลางยาว ๒๐-๒๘ ซม. มีใบย่อย ๕-๗ (-๑๑) ใบ ก้านช่อยาวประมาณ ๑๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. บริเวณรอยต่อของโคนก้านใบและก้านใบย่อยป่อง แกนกลางใบย่อยยาวประมาณ ๕ ซม. ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานกว้าง ๒.๕-๖.๗ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลมหรือสอบทู่ พบบ้างที่ยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนปกคลุมประปรายตามเส้นใบ ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๑ ซม. และก้านใบย่อยที่ปลายยาวประมาณ ๔ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๓๕ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. มีดอกหนาแน่นที่ปลายช่อ ก้านดอกยาว ๒-๕ ซม. ใบประดับรูปแถบ ยาว ๒.๕-๓(-๕) ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๑.๕-๓ ซม. กลีบเลี้ยงหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๒-๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน แฉกกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีเขียวอมม่วง ผิวมีเกล็ดขนาดเล็กประปราย กลีบดอกหนา สีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันและสอบแคบคล้ายทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑ ซม. เหนือขึ้นไปแผ่กว้างออกคล้ายรูประฆัง ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก คล้ายรูปปากเปิด แยกเป็นซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กลับหรือรูปเกือบกลม กว้าง ๑.๗-๑.๘ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. แผ่นกลีบย่น ขอบเป็นคลื่น บริเวณกลางแฉกซีกล่างทั้ง ๓ แฉกเป็นร่อง
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักรูปแถบ ยาวและแคบสีเทา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ยาว ๓๐-๔๐(-๗๐) ซม. ห้อยลง เมื่อแก่แตกด้านข้างตามยาวและบิดงอเล็กน้อยตรงกลางมีพลาเซนตาเป็นแกนยาว ก้านผลกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓.๖ ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงรี กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีปีก ๒ ข้าง ปีกรวมเมล็ดกว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีน้ำตาลมันวาวปลิว และร่วงง่าย
แคธารโบกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้พบในป่าดิบชื้นโปร่งและป่าบึงน้ำจืดในบริเวณเขาหินปูน ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.