ชิงช้าชาลี

Tinospora baenzigeri Forman

ชื่ออื่น ๆ
จุ่งจะลิงตัวแม่, จุงจาลิง (เหนือ)
ไม้เลื้อย เถารูปทรงกระบอกหรืออาจเป็นสันบ้าง มีช่องอากาศเล็ก ๆ กระจายทั่วไป มียางใส ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปหัวใจ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือคล้ายช่อกระจะ ออกตามเถาแก่เหนือรอยแผลใบ มักออกหลายช่อรวมกันเป็นกระจุก ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียวอ่อนหรือสีนวล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีกว้างหรือเกือบกลม ผลสุกสีเหลืองหรือสีส้มอมเหลือง เป็นมัน เมล็ดรูปคล้ายผล

ชิงช้าชาลีเป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง ๑๕ ม. เถารูปทรงกระบอกหรืออาจเป็นสันบ้าง มีช่องอากาศเล็ก ๆ กระจายทั่วไป มียางใส มีรสขม รากอากาศเรียวยาวเถาที่แก่มากกว้างได้ถึง ๖ ซม. และมีเนื้อแข็ง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปหัวใจ กว้าง ๖-๑๔ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบางด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เห็นได้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างนูนเด่นชัดมากกว่า ที่ซอกเส้นโคนใบมีตุ่มใบ ๒ ตุ่ม สีเขียวอ่อน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๑ มม. ยาวประมาณ ๑-๒ มม. ภายในกลวง ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายและโคนก้านมักอวบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือคล้ายช่อกระจะ ออกตามเถาแก่เหนือรอยแผลใบมักออกหลายช่อรวมกันเป็นกระจุก ช่อดอกเพศผู้ยาว ๗-๒๐ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๕ ซม. ดอกมักอยู่เป็นกระจุก กระจุกละ ๑-๓ ดอก เรียงห่าง ๆ ตลอดแกนช่อ ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียวอ่อนหรือสีนวล ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียง ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ รูปไข่ ยาว ๑-๑.๕ มม. ชั้นใน ๓ กลีบ รูปไข่กลับ ยาว ๓-๔ มม. กลีบดอก ๖ กลีบ ส่วนมากเจริญเพียง ๓ กลีบ รูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ ๒ มม. อีก ๓ กลีบ มักลดรูป มีขนาดเล็กมาก เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียยาว ๒-๖ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกมักเรียงเดี่ยวตลอดแกนช่อ รูปร่างคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๖ เกสร ลดรูป มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ รังไข่ แยกอิสระ แต่ละรังไข่รูปทรงรีป้อม ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีกว้างหรือเกือบกลม กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายมนผลสุกสีเหลืองหรือสีส้มอมเหลือง เป็นมัน เมล็ดรูปคล้ายผล กว้าง ง ๔-๖ มม. ยาว ๗-๙ มม. ขอบข้างมักเป็นสันเล็กน้อย ผิวเรียบหรือเป็นปุ่มเล็กกระจายทั่วไป

 ชิงช้าชาลีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าโปร่งที่รกร้าง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เวียดนามภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย

 ประโยชน์ เถามีรสขม ใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงช้าชาลี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tinospora baenzigeri Forman
ชื่อสกุล
Tinospora
คำระบุชนิด
baenzigeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forman, Lewis Leonard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1929-1998)
ชื่ออื่น ๆ
จุ่งจะลิงตัวแม่, จุงจาลิง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์