จิปซอฟฟิลา

Gypsophila paniculata L.

ชื่ออื่น ๆ
จิปโซ, ยิปโซ (ทั่วไป)
ไม้ล้มลุกหลายปี ต้นตั้ง แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ ไร้ก้านใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีขาว สีชมพู หรือสีชมพูอมม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงกระบอก เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ค่อนข้างแบน รูปเกือบกลมหรือคล้ายรูปไต ผิวเป็นปุ่มนูนทั่วไป สีน้ำตาลแดงถึงค่อนข้างคล้ำ

จิพซอฟฟิลาเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๐.๓-๑ ม. รากใหญ่ ต้นตั้ง แตกกิ่งก้านมาก กิ่งเรียวเล็ก เกลี้ยงหรือมีขนต่อม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ ปลายแหลมหรือเรียวแหลม กว้าง ๒-๗ มม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๙ ซม. โคนตัด ขอบเรียบ ใบล่างตามโคนต้นหรือกิ่งมีขนาดใหญ่กว่าใบบนที่อยู่ถัดไป แผ่นใบมักมีนวล เส้นกลางใบเด่นชัด เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ไร้ก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอกหรือรูปสามเหลี่ยม เรียว ปลายแหลม ขนาดลดหลั่นขึ้นไปเป็นลำดับ ดอกมีจำนวนมาก เมื่อบานกว้าง ๐.๕-๑ ซม. ขนาดแตกต่างตามพันธุ์ มักบานสะพรั่งพร้อมกันมีสีขาว สีชมพู หรือสีชมพูอมม่วงอ่อน มีทั้งพันธุ์ดอกลาและดอกซ้อน ก้านดอกเรียว ยาว ๒-๖ มม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงยาว ๑.๕-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ปลายมน เกลี้ยง สีเขียว ขอบบาง สีเขียวอ่อน มักมีเส้นกลีบสีม่วง กลีบดอก ๕ กลีบ ค่อนข้างบาง รูปช้อนแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายตัด มน หรือเว้า ขอบเรียบ บางพันธุ์มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวใกล้เคียงกับกลีบดอกก้านชูอับเรณูเรียว อับเรณูรูปค่อนข้างกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ รูปทรงรี หรือเกือบกลม กว้างประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ ก้าน พบน้อยมากที่มี ๓ ก้าน ยาว ๑-๒.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กและเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงกระบอก เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ค่อนข้างแบนรูปเกือบกลมหรือคล้ายรูปไต กว้างประมาณ ๑ มม. ผิวขรุขระเป็นปุ่มนูนทั่วไป สีน้ำตาลแดงถึงค่อนข้างคล้ำ

 จิพซอฟฟิลาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบยูเรเซีย มีหลายพันธุ์ แพร่กระจายในเขตอบอุ่นและเขตกึ่งร้อน ทั้งอเมริกา แคนาดา ยุโรป แอฟริกา และออสเตรเลีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามเขตพื้นที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในสภาพควบคุมจำเพาะเนื่องจากเป็นพืชในกลุ่มพืชวันยาว

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ตัดดอกสดหรือทำดอกไม้แห้ง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิปซอฟฟิลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gypsophila paniculata L.
ชื่อสกุล
Gypsophila
คำระบุชนิด
paniculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
จิปโซ, ยิปโซ (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์