ขี้อ้นชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๓ ม. มียางใส ผลัดใบเมื่อออกดอก มีรากหนาแข็งใกล้โคนต้น ลำต้นสีเขียวอมเทา แตกกิ่งก้านเรียงสลับ ตามกิ่งก้านมีขนสากรูปดาว ใส สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนทั่วไป เมื่อกิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างแหลม โคนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ จักอาจตื้นหรือลึก แผ่นใบบาง มีขนสากทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้านล่างขนหนาแน่นกว่าด้านบน โดยเฉพาะบนเส้นกลางใบ สีสดกว่าด้านบนเล็กน้อย มีตุ่มเล็กทั่ว ๆ ไป มีต่อมรูปกรวยคว่ำ ๑ คู่ที่โคนเส้นกลางใบ ต่อมมีก้านยาวประมาณ ๑ มม. และมักมีต่อมที่คล้ายกันแต่ขนาดเล็กกว่าอยู่ที่ขอบใบ มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น ค่อนข้างชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๒.๗ ซม. มีขนสาก หูใบรูปแถบ ขนาดเล็ก มีขนสาก ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาว ๔-๑๐ ซม. ออกตามปลายยอด ดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ มี ๑-๔ ดอก ต่อใบประดับ ๑ ใบ โคนช่อเป็นดอกเพศเมีย มี ๓–๑๑ ดอก แต่ละดอกมีใบประดับ ๑ ใบ ใบประดับรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ไม่มีต่อม ติดทน ดอกเพศผู้มีขนหนาแน่น ก้านดอกยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้มีประมาณ ๑๐ อัน แยกกัน ก้านชูอับเรณูยาวกว่าอับเรณู อับเรณูมี ๒ ช่อง ติดกับก้านชูอับเรณูที่ฐาน จานฐานดอกเป็นพู ดอกเพศเมียมีขน ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กว้าง ๓ มม. ยาว ๓-๖ มม. บางมากคล้ายเยื่อ แยกกัน ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบยาวประมาณ ๒ มม. มีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๕ มม. มี ๓ แฉก แต่ละแฉกแยกเป็น ๒ แฉกย่อย
ผลแบบผลแยกแล้วแตก มี ๓ พู ยาว ๖-๗ มม. ผนังบาง มีขนรูปดาวทั่วไป มีกลีบเลี้ยงติดทน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด รูปรี แบน กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. หนาประมาณ ๔ มม. สีน้ำตาล มีจุกขั้วขนาดเล็ก
ขี้อ้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่รกร้าง บนดินปนหินแกรนิต และเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐–๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.