กล่ำผีเป็นไม้พุ่ม ผลัดใบ สูงประมาณ ๖๐ ซม. แตกกิ่งมาก กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม สีแดงเรื่อ ๆ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ ค่อนข้างกลมหรือรูปรีกว้าง กว้าง ๑-๑.๗ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายมนมีติ่งสั้น โคนมนแผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น ปลายจรดกัน เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๘ มม. หูใบเล็ก รูปสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกเล็ก ไม่มีกลีบดอก บานทีละดอก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงสีเหลือง เล็กมากมี ๖ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมนและหยักตื้น ๆ ก้านชูอับเรณูสั้นและเชื่อมติดกัน ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเล็กมาก มี ๖ แฉก รูปไข่กลับ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย คว่ำปลายตัด มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีร่องตามยาว ๖ ร่อง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ อัน ยอดเกสรเพศเมีย แต่ละอันแยกเป็น ๒ แฉก โค้งลง
ผลเล็กมาก มี ๓ พูตามยาว แก่จัดแตกเป็น ๓ ซีก แต่ละซีกมี ๑ เมล็ด
กล่ำผีเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๗๐๐ ม. ใบสดตำใช้รักษาแผลพุพอง.