แตงไทย

Cucumis melo L.

ชื่ออื่น ๆ
ซกเซรา (เขมร-บุรีรัมย์); ดี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตงจิง (นครราชสีมา); แตงลาย, มะแตงลาย, มะแตงสุก
ไม้เลื้อยล้มลุก มือจับไม่แยกแขนง มีขนแบบขนแกะ ขนหยาบแข็ง หรือขนสากคลุมทั่วลำต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่หรือรูปกลม ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลือง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลแบบผลเปลือกเหนียว คล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีค่อนข้างหลากหลาย เป็นลายเส้นคล้ายตกกระ หรือไม่มีลาย รูปทรงกลม รูปทรงรี ทรงรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ผิวมีขนสั้นนุ่มหรือมีนวล เมล็ดรูปรีหรือรูปขอบขนาน แบน ผิวเรียบ มีจำนวนมาก

แตงไทยเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นยาวได้ถึง ๖ ม. มือจับไม่แยกแขนง มีขนแบบขนแกะ ขนหยาบแข็ง หรือขนสากคลุมทั่วลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปกลม แผ่นใบเป็นแฉกลึกหรือไม่แยกเป็นแฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๑๕ ซม. แฉกส่วนใหญ่ค่อนข้างกลม ขอบหยักซี่ฟันตื้น ๆ เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบยาว ๓-๑๐ ซม.


 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีเหลืองช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกยาว ๐.๓-๒.๕ ซม. มีขน ฐานดอกเป็นหลอดรูประฆังหรือรูปลูกข่าง ยาว ๔-๖ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ ยาว ๑-๖ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ส่วนใหญ่มีขนละเอียด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. ปลายแฉกมนหรือกึ่งแหลม ขอบเรียบเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดอยู่กึ่งกลางของหลอดฐานดอกก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูชิดกัน ยาว ๑-๒.๕ มม. แกนอับเรณูมีปลายยืดออกเป็น ๒ แฉก หรืออาจไม่มีแฉก จานฐานดอกมีขนาดใหญ่คล้ายต่อม ไม่ติดกับหลอดฐานดอก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๐.๔-๔ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปลิ่มแคบ ยาว ๑.๕-๗ มม. กลีบดอกยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก จานฐานดอกอยู่รอบฐานของก้านยอดเกสรเพศเมีย ไม่ติดกับหลอดฐานดอกรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี ยาว ๐.๔-๑.๔ ซม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ มม. ขอบเป็นพูเล็ก ๆ ลักษณะอื่น ๆ คล้ายดอกเพศผู้

 ผลแบบผลเปลือกเหนียว คล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีค่อนข้างหลากหลาย เช่น สีเขียว สีเหลืองสีขาว สีน้ำตาล เป็นลายเส้น คล้ายตกกระ หรือไม่มีลายรูปทรงกลม รูปทรงรี ทรงรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๕ ซม. พบบ้างที่กว้างได้ถึง ๒๐ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๑ ม. ผิวมีขนสั้นนุ่มหรือมีนวล ผนังผลชั้นนอกเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผนังผลชั้นกลางและผนังผลชั้นในเป็นเนื้อฉ่ำ สีเขียว สีเหลือง หรือสีส้ม ก้านผลยาว ๒-๔ ซม. เมล็ดรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. หนา ๑-๒ มม. แบน ผิวเรียบ มักไม่มีปีก มีจำนวนมาก

 แตงไทยเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วทุกภาค ชนิดCucumis melo L. เป็นชนิดที่มีความหลากหลายมากที่สุดในสกุล Cucumis L. ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลช่วงฤดูร้อน ในต่างประเทศพบปลูกทั่วไป

 ประโยชน์ ผลกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cucumis melo L.
ชื่อสกุล
Cucumis
คำระบุชนิด
melo
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ซกเซรา (เขมร-บุรีรัมย์); ดี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตงจิง (นครราชสีมา); แตงลาย, มะแตงลาย, มะแตงสุก
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์