จิตรลดาเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ยาวได้ถึง ๖ ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม แตกแขนงกางออก ผิวมีหนามเล็กหรือค่อนข้างเกลี้ยง โคนลำต้นและรากค่อนข้างแข็ง
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบหรือเรียงตรงข้ามแต่ละข้อมี ๒-๘ ใบ รูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๕ ซม. ยาว ๑-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจหรือกลม ขอบมีขนสากแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสากหรือเกือบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๓-๗ เส้น ก้านใบยาว ๑-๑๐ ซม. มีขนสาก หูใบระหว่างก้านใบมีลักษณะคล้ายใบ แต่ขนาดเล็กกว่า
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือออกตามยอด ยาว ๓-๑๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว ๓-๕ มม. ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. เป็นเหลี่ยมมีขนสากหรือเกลี้ยง ดอกเล็ก สีเขียว สีเหลืองอมเขียวสีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปไข่ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง แฉกกลีบเห็นไม่ชัด กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดกึ่งรูปแตร ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดใกล้ปากหลอดด้านใน เรียงสลับกับแฉกกลีบ ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปขอบขนาน จานฐานดอกเล็ก รูปวงแหวน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เป็นพู ๒ พู มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก แต่ละแฉกมียอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงเกือบกลมหรือเป็นพู ๒ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. สุกสีดำอมม่วง เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑-๒ เมล็ด
จิตรลดามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่าหรือทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๕๐๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ทวีปแอฟริกา กรีซ อินเดีย เนปาล ทิเบต ภูฏาน ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น และเกาะชวา
ประโยชน์ ยอดและใบอ่อนใช้เป็นผักสดหรือลวกเป็นผักจิ้ม ใบและเถาเมื่อสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด รากใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีแดงโดยใช้สารส้มช่วยให้สีติด รากใช้เป็นยาแก้พิษแมงป่องเป็นยาขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ห้ามเลือดเมื่อมีเลือดไหลจากริดสีดวงทวารหนัก และแก้โรคดีซ่าน.