ขี้หมาเป็นเหล็ก

Roureopsis acutipetala (Miq.) Leenh.

ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้รอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย (๑)-๓-๗ ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ มีขนหนานุ่ม ดอกสีขาวอมเหลือง ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มีขน มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ขึ้น เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลือง

ขี้หมาเป็นเหล็กเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้รอเลื้อย อาจพบเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย (๑)-๓-๗ ใบ รูปรี กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายมนหรือแหลม ปลายสุดเว้าตื้น โคนแหลมหรือมน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายโค้งจรดกัน ไม่มีก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาวประมาณ ๔ ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกสีขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ รูปแถบปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม กลีบดอก ๔-๕ กลีบ รูปแถบปลายแหลม กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๘-๑๐ อัน เกสรเพศเมีย ๔-๗ อัน แยกกัน มีขนยาวหนาแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๒ เม็ด

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มีประมาณ ๕ ผล รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ขึ้น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวได้ถึง ๗ มม. มี ๑ เมล็ด โคนเมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลือง

 ขี้หมาเป็นเหล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบในป่าดิบที่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ออกดอกในเดือนมีนาคม ในต่างประเทศพบในภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้หมาเป็นเหล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Roureopsis acutipetala (Miq.) Leenh.
ชื่อสกุล
Roureopsis
คำระบุชนิด
acutipetala
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
- Leenhonts, Pieter Willem
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
- Leenhonts, Pieter Willem (1926- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา