กลอยเป็นไม้เถา เลื้อยพันไปบนต้นไม้อื่น หัวค่อนข้างกลม ส่วนบนและส่วนล่างแบน ไม่ฝังลึกลงในดิน ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินมักเป็นลอนตื้น ๆ หัวมีขนาดต่าง ๆ กัน บางหัวหนักถึง ๓๐ กิโลกรัม ผิวสีฟางหรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวลและมีสารพิษอยู่ ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดินมีขนและหนาม
ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย เรียงสลับ ใบกลางรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ เส้นใบเรียงตามยาว ๓-๕ เส้น ใบคู่ข้างรูปรีแกมรูปไข่ ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยว เล็กกว่าใบกลางเล็กน้อย เส้นใบเรียงตามยาว ๔-๖ เส้น ด้านล่างของใบตามเส้นใบใหญ่ ๆ มีหนาม ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านใบประกอบยาวประมาณ ๒๕ ซม. มีหนาม แผ่นใบกว้างปลายแหลม โคนสอบแคบ
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อเชิงลดตามง่ามใบดอกเล็ก รูประฆัง สีเขียวอ่อนหรือสีนวล ดอกเพศผู้อัดรวมกันแน่นบนช่อดอก มีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้มี ๒ วง วงละ ๓ อัน ดอกเพศเมียเรียงห่าง ๆ บนช่อดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง
ผลแบบผลแห้ง ยาวประมาณ ๕ ซม. มีครีบตามยาว ๓ ครีบ เมล็ดมีปีกเฉพาะที่โคน
สารพิษที่พบในหัวกลอย คือ dioscorine ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์กลุ่ม tropane กลุ่มเดียวกับ hyoscine ที่พบในใบ ราก ดอก และเมล็ดลำโพง นอกจากสารดังกล่าวแล้ว ในยังมีแป้งในปริมาณสูง ในอินเดียนำมาเตรียมเป็นแป้งในทางอุตสาหกรรม (Bhatnagar ed., 1982; Chopra, Badhwar and Ghosh, 1965)
หัวกลอยใช้เป็นอาหารได้ คนส่วนใหญ่ทราบว่าหัวกลอยเป็นพิษ ก่อนนำมากินจะต้องล้างสารพิษออกให้หมดโดยฝานเป็นชิ้นบาง ๆ นำมาแช่ในน้ำเกลือแล้วถ่ายน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำไหลเพื่อให้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด เพราะ dioscorine เป็นแอลคาลอยด์ที่ละลายได้ดีในน้ำ
พิษของ dioscorine จะทำให้ระบบประสาทกลางเป็นอัมพาต การกินหัวกลอยที่ยังไม่ได้ล้างเอาสารพิษออกอาจทำให้เกิดพิษ ปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หายใจขัด หมดสติ และถ้ากินมากอาจทำให้ถึงตายได้หลังจากที่กินแล้วประมาณ ๖ ชั่วโมง ชาวป่าบางเผ่านำน้ำที่คั้นจากหัวกลอยมาผสมกับยางของต้นน่อง (Antiaris toxicaria Lesch.) อาบลูกดอกเพื่อใช้ยิงสัตว์ (Chopra, Badhwar and Ghosh, 1965).