ตองแห้งหินปูนเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๕๐ ซม. ลำต้นตั้งหรือโน้มเอน กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม เมื่อแก่สันค่อนข้างมน เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม สอบเรียวหรือมน ขอบเรียบใกล้ขอบมีขนสาก แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่าและมีนวล เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น เห็นไม่ชัด เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องตื้นและมีขนสาก นูนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๕ มม. หรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเล็กขอบเป็นแฉกปลายคล้ายขนแข็ง ๙-๑๑ แฉก มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกสั้นมาก อยู่ในซอกใบ มีดอกน้อยค่อนข้างชิดกัน ดอกเล็ก สีขาว ไร้ก้านดอก กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแหลม ขอบมีปุ่มเล็ก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ปากหลอดผายออกเล็กน้อยและมีขนหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนบริเวณแนวกลางกลีบดอก ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๑-๑.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน เล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มีเหลี่ยม
ตองแห้งหินปูนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ตามเขาหินปูน ในป่าโปร่งที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.