ชงโคขี้ไก่ชนิดนี่เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือจับ กิ่งอ่อนมีขนสีสนิม กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกึ่งวงกลมแกมรูปไข่ กว้าง ๖-๙ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ปลายสุดหยักมน เว้าลงมาตามเส้นกลางใบประมาณหนึ่งในห้าของความยาวแผ่นใบ โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงถึงมีขนเล็กน้อยโดยเฉพาะบริเวณเส้นใบ เส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม. เกลี้ยง หูใบร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจะยาว มีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก แกนกลางช่อมีขนสั้นหนานุ่มสีสนิมใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนแข็งใบประดับย่อยขนาดเล็ก ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. ดอกตูมรูปกระสวย ยาว ๒-๓ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นหนานุ่มสีเทา ฐานดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เมื่อบานแยกออกเป็น ๒-๓ ส่วน โค้งพับลง กลีบดอก ๕ กลีบ สีเขียวแกมเหลือง รูปช้อนยาว ๒-๓ มม. ขอบหยักมนถี่ ก้านกลีบสั้น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวเป็น ๒ เท่าของกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนานแคบยาวประมาณ ๑ มม. แตกตามยาว เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๗ เกสร มีขนาดเล็กไม่เท่ากัน จานฐานดอกมีขน ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปขอบขนาน ยาว ๑-๒ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๗ เม็ด โคนและรอยเชื่อมของรังไข่มีขนยาวประปราย ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัดเจน
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๑ ซม. ปลายกว้างและมีติ่งหนาม เมล็ดรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี มี ๓-๗ เมล็ด
ชงโคขี้ไก่ชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. มักเลื้อยพันขึ้นปกคลุมต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.