ขาไก่เป็นเฟิร์นอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มีลำต้นสั้นเกาะเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ ๓ มม. มีเกล็ดปกคลุมทั่วไป เกล็ดรูปไข่ ปลายเรียวแหลม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. บริเวณตอนกลางเกล็ดมีสีเข้มเกือบดำ บริเวณขอบสีน้ำตาล มีรากหนาแน่นรอบลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงสลับถี่ รูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๑๕-๓๒ ซม. ขอบเรียบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดเจน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม มีขนรูปดาวคลุม และเห็นรูหยาดน้ำกระจายทั่วไป ก้านใบสีเขียวซีดยาวได้ถึง ๓๐ ซม.
กลุ่มอับสปอร์รูปกลม สีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. เกิดทางด้านล่างของแผ่นใบ อับสปอร์เรียงหนาแน่นตั้งแต่บริเวณกลางแผ่นใบถึงปลายใบ ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
ขาไก่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นบนต้นไม้หรือบนหินบริเวณที่มีอินทรียวัตถุและความชื้นปานกลาง ที่ได้รับแสงหรือกึ่งร่ม พบมากในที่สูงจากระดับทะเลน้อยกว่า ๕๐๐ ม. และอาจพบบ้างที่ระดับความสูงได้ถึง ๑,๓๐๐ ม. ในช่วงฤดูแล้งขอบใบมักจะม้วนเพื่อลดการคายน้ำ ในต่างประเทศพบที่เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.