เขนงนายพราน

Nepenthes mirabilis (Lour.) Druce

ชื่ออื่น ๆ
กระบอกน้ำพราน, ลึงค์นายพราน, หม้อแกงค่าง, หม้อข้าวหม้อแกงลิง (ใต้); หม้อข้าวลิง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้เถา ใบเรียงเวียน แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนล่างเป็นแผ่นใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ส่วนบนเป็นก้านคล้ายเส้นลวดขมวดเป็นมือพยุงลำต้น หรือเป็นกระเปาะรูปเหยือกก้นสอบมีฝาปิด ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบใกล้ยอด ดอกสีน้ำตาลอมแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี

เขนงนายพรานเป็นไม้เถา ยาว ๕-๗ ม. ลำต้นเรียว เหนียวแข็งคล้ายเส้นลวด ผิวสีน้ำตาลอมเขียว มีขนประปรายในระยะแรก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ออกเป็นกระจุกบริเวณโคนลำต้น แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนล่างเป็นแผ่นใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายมน โคนสอบแคบจนเป็นครีบไปตามก้านใบ ขอบเรียบหรือมีหนามโค้งสั้น ๆ โดยเฉพาะตามใบอ่อน แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวจาง มีขนประปรายตามเส้นกลางใบและมีจุดประสีน้ำตาล เส้นจากโคนใบตามยาวข้างละ ๔-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ส่วนบนต่อจากปลายเป็นก้านเรียวคล้ายเส้นลวด ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ปลายเส้นจะขมวดเวียนซึ่งจะทำหน้าที่เป็นมือพันพยุง

 ลำต้น หรืออาจขยายยื่นต่อไปจากมือพันเป็นกระเปาะหรือถุงเป็นที่ดักแมลง กระเปาะสีเขียวอ่อนหรือประม่วงแดง รูปเหยือกก้นสอบ กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ผิวเรียบ มีเส้นนูนสีเข้ม ๒ เส้นพาดขนานตามยาวทางด้านข้างของกระเปาะพอสังเกตเห็นได้ ปากผายกว้างและมีฝาปิด ภายในกระเปาะมีน้ำขัง เมื่อแมลงตกลงไปพืชจะส่งน้ำย่อยออกมาสลายสารบางชนิดจากแมลงแล้วดูดซับผ่านทางผิวของกระเปาะไปเลี้ยงต้นพืชต่อไป ก้านใบรวมครีบทั้ง ๒ ข้างเป็นรูปรางน้ำ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม.

 ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบใกล้ยอด ช่อรวมทั้งก้านช่อยาว ๒๐-๕๐ ซม. ดอกส่วนใหญ่ออกเป็นคู่ตามแกนช่อ สีน้ำตาลอมแดง ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบจะพับกลับ ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔-๑๖ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ มม. อับเรณูไม่มีก้านเรียงติดกันเป็นวง ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๒-๓ ซม. เมื่อแก่แตกตามรอยประสานจากด้านบนเป็น (๓)-๔ แฉก เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

 เขนงนายพรานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าน้ำท่วมขัง ป่าพรุ ป่าบึงน้ำจืด และตามป่าหญ้าที่ค่อนข้างชื้น ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ใบส่วนที่เป็นกระเปาะใช้ใส่อาหารที่ปรุงแล้วเพื่อนึ่งหรือปิ้ง.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขนงนายพราน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nepenthes mirabilis (Lour.) Druce
ชื่อสกุล
Nepenthes
คำระบุชนิด
mirabilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Druce, George Claridge
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Druce, George Claridge (1850-1932)
ชื่ออื่น ๆ
กระบอกน้ำพราน, ลึงค์นายพราน, หม้อแกงค่าง, หม้อข้าวหม้อแกงลิง (ใต้); หม้อข้าวลิง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนฤมล บุญแต่ง และ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย