คดนกกูดเป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑๐ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้างประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเป็นร่องและขยายออกโอบลำต้นหรือกิ่ง ขอบเรียบหรือหยักซี่ ฟันหยาบ ๆ โดยเฉพาะหยักบนสุด แผ่นใบส่วนมากหยักลึกแบบขนนก บางครั้งหยักลึกถึงเส้นกลางใบ การหยักลึกมีขนาดไม่เท่ากัน หรืออาจไม่หยักเลย แต่ละหยักรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ก้านใบยาว ๕-๑๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ยอด ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ห้อยลง มีขนละเอียดทั่วไป ใบประดับร่วงง่าย ส่วนใบประดับย่อยติดทน ดอกขนาดเล็ก มีจำนวนมาก กลิ่นหอม สีขาวนวลหรือสีขาวนวลแต้มแดง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนละเอียด ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานและแผ่ออก ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. กลางดอกมีฐานก้านเกสรเพศเมียที่อวบน้ำและเว้าลง ดอกเพศเมียมีจำนวนและขนาดของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเท่าดอกเพศผู้ ร่วงง่าย มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๕ เกสร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรีเบี้ยว มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด เจริญเพียง ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓-๔ ก้าน
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีเบี้ยวกว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๔.๕ ซม. หัวท้ายแหลม ผลอ่อนสีขาว สุกสีม่วงหรือดำ เนื้อนุ่ม เมล็ดรูปทรงรี ยาว ๒-๒.๕ ซม. มี ๑ เมล็ด ผิวเป็นรูปตาข่ายลึก
คดนกกูดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าไผ่ หรือป่าที่แผ้วถางแล้ว ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.