หญ้าขนบุ้งเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๐.๕-๑ ม. ลำต้นแตกกอแน่นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๐.๔-๐.๘ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม มีขนยาวนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กาบใบยาว ๓-๑๐ ซม. มีขนยาวนุ่มประปราย ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาว ๑-๑.๒ มม. ปลายมีแถบขนสั้น ๆ ช่อดอกแบบช่อเชิงประกอบ ประกอบด้วยแขนงช่อแบบช่อกระจะ ๒ ช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๐ ซม. ช่อดอกย่อยสีน้ำตาล ออกเป็นคู่ มีก้านและไร้ก้าน ช่อดอกย่อยมีก้านลดรูปเป็นติ่งเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนสีน้ำตาลทองประปราย ก้านช่อดอกย่อยยาวประมาณ ๑ มม. ช่อดอกย่อยไร้ก้านสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลเข้ม รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. กาบช่อย่อยกาบล่างรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. ปลายตัดหรือเว้าตื้นและจักเป็นชายครุย หนาคล้ายแผ่นหนัง โคนมีกลุ่มขนสีน้ำตาลทองหนาแน่นและมีเส้นตามยาว ๗ เส้น กาบช่อย่อยกาบบนรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๕-๕.๕ มม. ปลายตัดและจักเป็นชายครุย บางคล้ายกระดาษ ด้านหลังมีขนสากมีดอก ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน กาบดอกรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายตัดเป็นเยื่อบางใส ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบดอกรูปขอบขนาน กาบดอกล่างกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายจักเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก ระหว่างแฉกมีรยางค์แข็ง ยาว ๒-๒.๕ ซม. รยางค์มีขนสาก กาบดอกบนกว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๔.๕-๕ มม. ปลายแหลม เป็นเยื่อบางใส ไม่มีกลีบเกล็ด เกสรเพศผู้ ๒ เกสร อับเรณูยาว ๓-๔ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่ม
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด
หญ้าขนบุ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นกระจายเป็นบริเวณกว้างในทุ่งหญ้า ในต่างประเทศพบที่อินเดียและศรีลังกา.