กกช้าง

Typha angustifolia L.

ชื่ออื่น ๆ
กกธูป, ธูปฤาษี, เฟื้อ (กลาง); ปรือ (ใต้); หญ้าสลาบหลวง (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ชอบน้ำ มีเหง้าใต้ดิน ใบรูปแถบเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกแบบช่อเชิงลด เป็นแท่งยาวคล้ายธูปดอกใหญ่ กลุ่มดอกเพศผู้อยู่ปลายก้าน ส่วนกลุ่มดอกเพศเมียอยู่ต่ำลงมา ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ปลายมีขนขาวฟู

 กกช้างเป็นไม้ล้มลุกสองปี เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ม. แผ่นใบด้านบนโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหนุนอยู่กลางใบ ส่วนด้านล่างแบน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีดอกจำนวนมากติดกันแน่นสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายธูปดอกใหญ่ ก้านช่อดอกกลม แข็ง ดอกแยกเพศ แบ่งเป็นตอนเห็นได้ชัด กลุ่มดอกเพศผู้อยู่ปลายก้านรูปทรงกระบอก ยาว ๑๕-๓๐ ซม. และทิ้งช่วงห่างกลุ่มดอกเพศเมีย ๐.๕-๑๒ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๒-๓ อัน และมีขนแบนรูปช้อน ๓ เส้น กลุ่มดอกเพศเมียรูปทรงกระบอกเช่นกัน แต่ใหญ่กว่ากลุ่มดอกเพศผู้ ยาว ๗-๒๘ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. มีใบประดับย่อยเป็นเส้นปลายสีน้ำตาลจำนวนมากแซมดอก โคนก้านชูเกสรเพศเมียมีขนยาวสีเงินหลายเส้น รังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็กมาก

 กกช้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบในที่ลุ่มทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก

 ใบยาวและเหนียวนิยมใช้ทำเครื่องจักสาน เช่น เสื่อ ตะกร้า ใช้มุงหลังคาและทำเชือก ดอกแก่จัดมีขนปุยนุ่มมือลักษณะคล้ายปุยนุ่นจึงนิยมใช้แทนนุ่น ยอดอ่อนกินได้ทั้งสดและทำให้สุก ช่อดอกปิ้งกินได้ แป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินและรากใช้บริโภคได้เช่นกัน ในอินเดียเคยใช้ก้านช่อดอกทำปากกา และ เชื่อว่าลำต้นใต้ดินและรากใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิด เช่น ขับปัสสาวะ เยื่อของต้นกกช้างนำมาใช้ทำใยเทียม (rayon) และกระดาษได้ มีเส้นใยถึงร้อยละ ๔๐ สีขาวหรือน้ำตาลอ่อนนำมาทอเป็นผ้าใช้แทนฝ้ายหรือขนสัตว์ เส้นใยนี้มีความชื้น ร้อยละ ๘.๙ เซลลูโลสร้อยละ ๖๓ เฮมิเซลลูโลสร้อยละ ๘.๗ ลิกนินร้อยละ ๙.๖ ไขร้อยละ ๑.๔ และเถ้าร้อยละ ๒

 กกช้างมีปริมาณโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง กากที่เหลือจากการสกัดเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตออกแล้วใช้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนย่อย จะให้แก๊สมีเทนซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ผลมี long chain hydrocarbon ๒ ชนิด คือ pentacosane และ I-triacontanol สารพวก phytosterol ๒ ชนิด คือ β-sitosterol และ β-sitosteryl-3-0-β-D-glucopyranoside กกช้างสามารถกำจัดไนโตรเจนจากน้ำเสียในที่ลุ่มต่อไร่ได้ถึง ๔๐๐ กก. ต่อปี และสามารถดูดเก็บโพแทสเซียมต่อไร่ได้ถึง ๖๙๐ กก. ต่อปี จึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่จะมีบทบาทเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กกช้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Typha angustifolia L.
ชื่อสกุล
Typha
คำระบุชนิด
angustifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กกธูป, ธูปฤาษี, เฟื้อ (กลาง); ปรือ (ใต้); หญ้าสลาบหลวง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด