ชิ้งขาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๑๘ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ผิวมักล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนแนบกับผิวสีขาวหรือสีน้ำตาล มีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ตามกิ่งมักมีต่อมผิวมันขนาดเล็กใกล้โคนก้านใบทั้ง ๒ ข้าง กิ่งอ่อนกลวงหรืออาจพบตันได้บ้าง หักง่าย ทุกส่วนมียาง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรืออาจเรียงเกือบตรงข้ามรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้าง ๓-๙ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑๗ ซม. ยาว ๘-๒๒ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม มนกลม หรือเว้ารูปหัวใจขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน แผ่นใบค่อนข้างหนาหรือบาง
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือตามแขนงสั้นจากกิ่งหรือลำต้น แขนงเหล่านี่ยาวไม่เกิน ๒.๕ ซม. ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงเกือบกลม
ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๑-๒.๕ ซม. สุกสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีแดงค่อนข้างเกลี้ยง ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชิ้งขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าโปร่ง ตามริมลำธาร ป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ ผลอ่อนกินได้.