จิงจูฉ่ายเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีไหลใต้ดิน ต้นตั้งตรง สูง ๐.๕-๒ ม. ทุกส่วนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง มีกลิ่นหอมอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปร่างและขนาดไม่แน่นอนใบใกล้ยอดมีขนาดเล็ก ขอบไม่หยักหรือหยักตื้น ใบที่อยู่ต่ำลงไปจะมีขนาดใหญ่ขึ้น รูปไข่ กว้าง ๔.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๑๒.๕ ซม. ขอบจักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบแบบขนนก หยักที่โคนกว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒-๘ ซม.ใหญ่กว่าหยักที่ปลาย หยักปลายสุดแยกเป็น ๓ แฉก ปลายแฉกแหลม ขอบแฉกจักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบโคนใบสอบหรือเป็นครีบเล็กน้อย สีเขียวเข้ม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ ใบใกล้โคนมักเหี่ยวก่อนออกดอก ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. หรืออาจพบบ้างที่ยาวกว่านี้ โคนก้านใบมีหูใบเทียม ๑ คู่
ช่อดอกคล้ายช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ทรงพีระมิดแคบ ออกตามซอกใบใกล้ยอดและที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น มีจำนวนมาก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ไม่มีก้านช่อ แต่ละช่อกระจุกมีใบประดับรองรับ ๓-๔ ชั้น รูปกลมถึงรูประฆังสูง ๓.๕-๔.๕ มม. ชั้นนอกรูปไข่ ยาว ๑.๘-๒.๕ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ชั้นในรูปขอบขนาน ฐานดอกนูน
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กลับ ทรงรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. เกลี้ยง ไม่มีแพปพัส มี ๑ เมล็ด
จิงจูฉ่ายเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในจีน นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือ และอาจพบตามไร่นาและที่รกร้าง ที่สูงจากระดับทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบปลูกที่อินเดียตอนเหนือ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์
ประโยชน์ ใบกินเป็นผัก ใส่ในซุปหรือแกงจืดในจีนใช้เป็นสมุนไพร ใบมีสารประกอบที่มีรสขม คือ absinthin และ anabsinthin ซึ่งช่วยย่อยอาหาร.