กลอนดู่เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี หรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒.๕ ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง แตกกิ่งน้อย เปลือกเรียบสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเทา มีขนรูปดาวหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปขอบหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๑๕ ชม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบจักฟันเลื่อย หยักมน หรือเรียบ แผ่นใบบางหรือหนา มีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายโค้งจรดกันที่ขอบใบ ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูน ก้านใบยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง มีขนรูปดาว ใบประดับรูปแถบ หรือรูปใบหอก แกมรูปแถบ ยาว ๓-๘ มม. บางครั้งสั้นมาก เห็นไม่ชัดเจน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ช่อละ ๒-๗ ดอกก้านช่อดอกสั้นมาก ดอกสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ก้านดอก ยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก ขนาดเกือบเท่ากัน ปลายแฉกแหลม เรียวแหลม หรือรูปใบหอก แฉกมักสั้นกว่าหลอด ด้านในหลอดมีขนหันขึ้น ด้านนอกมีขนหนาแน่น มีสันตามยาว ๑๐ สัน เห็นชัดเจน กลีบ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน ยาว ๓-๕ มม. มีขนรูปดาวกระจายทั่วไป มักสมบูรณ์เพียง ๑-๒ ผล
กลอนดู่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบในสภาพป่าเกือบทุกประเภท ส่วนใหญ่ขึ้นในที่ค่อนข้างร่มหรือริมลำธารในป่าดิบชื้นใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ใบใช้ปิดบาดแผล น้ำคั้นจากใบแก้ปวดท้อง เป็นพรรณไม้ที่มีความผันแปรสูงเกี่ยวกับขนาด รูปร่างของใบ ความหนาแน่นของขน ขนาดและรูปร่างของแฉกกลีบเลี้ยง ตลอดจนสีของกลีบดอก แต่มีข้อสังเกตได้ง่ายคือ ช่อดอกเป็นกระจุกสั้น ๆ ที่ง่ามใบ ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไร้ก้านช่อ แฉกกลีบเลี้ยงอาจสั้นหรือยาว แต่จะไม่ยาวกว่าหลอดกลีบเลี้ยง.