แตงกะเหรี่ยงเป็นไม้เถาล้มลุกหลายปี ลำต้นอวบยาว ๕-๑๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๒-๑ ซม. มีเหง้าคล้ายหัว มือจับ ๒-๕ แขนง ลำต้นเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ห่าง ๆ แผ่นใบมี ๕ มุม หรือ ๕ แฉกตื้น ด้านบนมีขนสากชัดเจนกว่าด้านล่าง เส้นโคนใบ ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจน ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ทั้งช่อยาว ๘-๓๐ ซม. แต่ละช่อมี ๑๐-๓๐ ดอก จัดเรียงเป็น ๒-๖ กระจุกในช่อ ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๑-๖ มม. ฐานดอกเป็นหลอดตื้น กว้างประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบขอบขนานยาว ๕-๗ มม. กลีบดอกสีออกเขียวถึงสีเหลืองอ่อน มี ๕ กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๗ ซม. ปลายแหลมขอบเรียบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดที่โคนฐานดอก ก้านชูอับเรณูเชื่อมเป็นเส้าเกสร ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกและแผ่ออก ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูมีเส้นผ่านศูนย์กลาง
ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ผิวเรียบหรืออาจพบผิวมีปุ่มหรือร่องตามยาว เกลี้ยงหรือมีหนามอ่อน ๆ สุกสีเขียวหรือสีออกขาว ก้านผลยาว ๒-๓ ซม. เมล็ดขนาดใหญ่ ทรงรูปไข่ มี ๑ เมล็ด บางครั้งออกแบน ยาว ๕-๑๐ ซม. เปลือกเมล็ดชั้นนอกแข็ง เกลี้ยง มีสันแหลมคม
แตงกะเหรี่ยงเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ในประเทศไทยปลูกตามพื้นที่ภูเขาที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๒,๐๐๐ ม. พันธุ์ป่าออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนเมษายนถึงธันวาคมในต่างประเทศพบปลูกในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั่วโลกปัจจุบันปรับปรุงพันธุ์เป็นพืชปลูกมากมายหลายพันธุ์
ประโยชน์ ผลและยอดอ่อนรับประทานได้.