เต็งหอม

Cryptocarya pallens Kosterm.

ชื่ออื่น ๆ
หมากขี้อ้าย (ลำปาง)
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง กิ่งสีน้ำตาลเข้ม เป็นลาย มีขนตรงสั้น มีตาเกล็ดคล้ายใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกถึงรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกใกล้ปลายยอด ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

เต็งหอมเป็นไม้ต้น สูง ๗-๒๐ ม. กิ่งสีน้ำตาลเข้ม เป็นลาย มีขนตรงสั้น มีตาเกล็ดคล้ายใบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกถึงรูปรี กว้าง ๒.๒-๕.๘ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๘ ซม. ยาว ๖-๑๖ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มน หรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบมีขนประปราย ด้านล่างมีนวล มีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น พบน้อยที่มีได้ถึง ๑๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๙-๑.๕ ซม. เล็กเรียวหรือป่องพองเล็กน้อย อาจเป็นร่องทางด้านบน เกลี้ยงหรือมีขนสีสนิมถึงสีออกเหลืองอ่อนประปรายถึงหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกใกล้ปลายยอด ยาว ๓-๘ ซม. มีขนกำมะหยี่สีเหลืองประปราย ใบประดับกลม ยาว ๐.๑-๐.๒ มม. ร่วงง่าย ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียว กลีบรวมยาว ๐.๙-๑.๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขนกำมะหยี่ ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก กว้าง ๐.๘-๐.๙ มม. ยาว ๑-๑.๗ มม. ปลายแหลม อาจมีขนกำมะหยี่ เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๙ เกสร ยาว ๑-๑.๕ มม. โคนมีขนติดที่คอหลอดดอก เรียงเป็น ๓ วง เกสรวงนอกและเกสรวงกลางไร้ต่อม ส่วนเกสรวงในที่โคนก้านชูอับเรณูมีต่อมแบบมีก้าน ๒ ต่อม อับเรณูมี ๒ ช่อง อับเรณูวงในหันออก แตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันวงในสุดก้านชูอับเรณูสั้นมาก ไร้ต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ไร้ก้าน รูปคล้ายกระบอง ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีกว้าง ๐.๖-๑.๓ ซม. ยาว ๑.๔-๒.๒ ซม. มีกลีบรวมหุ้มเกือบมิดผล ผิวเรียบหรือมีสันจาง เกลี้ยง เมื่อแก่สีม่วงเข้ม ก้านผลเมื่อแก่อาจป่องพอง เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด

 เต็งหอมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต็งหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cryptocarya pallens Kosterm.
ชื่อสกุล
Cryptocarya
คำระบุชนิด
pallens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kostermans, André Joseph Guillaume Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1970-1994)
ชื่ออื่น ๆ
หมากขี้อ้าย (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต