ชิ้งเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๑๘ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ผิวมักล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนสีขาวหรือสีน้ำตาลแนบกับผิว มีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ตามกิ่งมักมีต่อมผิวมันขนาดเล็กใกล้โคนก้านใบทั้ง ๒ ข้าง กิ่งอ่อนกลวงหรืออาจพบตันได้บ้าง หักง่าย ทุกส่วนมียาง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรืออาจเรียงเกือบตรงข้ามรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๔-๑๗ ซม. ปลายเรียวยาวกึ่งคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน แผ่นใบค่อนข้างหนาหรือบาง อาจเบี้ยวเล็กน้อย ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีจางกว่าและมีผลึกหินปูนที่ซอกของเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบ ไม่มีต่อมผิวมันขนาดเล็ก หรือบางซอกมีแต่เห็นไม่ชัด เส้นกลางใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือทางด้านล่างเส้นกลางใบมีขนแนบกับผิวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. เกลี้ยงหรือมีขน ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ร่วงง่ายเกลี้ยงหรือมีขนแนบกับผิว
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเป็นกลุ่มตามแขนงสั้นจากกิ่งหรือลำต้น ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงเกือบกลมทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. โคนกระเปาะคอดเรียวคล้ายก้าน ยาว ๐.๑-๑ ซม. มีสันเล็กตามยาวหรืออาจเห็นไม่ชัด ค่อนข้างเกลี้ยง ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก ปลายกระเปาะมีช่องเปิด กว้าง ๑.๕-๓ มม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับ ๓ ใบ ยาว ๐.๕-๑ มม. ติดเป็นวงรอบโคนก้านช่อดอก ดอกมีจำนวนมากและมีขนาดเล็กมาก อยู่ค่อนข้างหนาแน่นภายในโพรงฐานช่อดอก แต่ละดอกมีกลีบรวมสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปปากแตรเล็ก
ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. สุกสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีแดงค่อนข้างเกลี้ยง ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชิ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ มักพบตามริมแหล่งน้ำ ป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประโยชน์ ผลอ่อนกินได้.