จิงจ้ำชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๕๐-๖๐ ซม. กิ่งเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ส่วนที่ยังอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟัน ไม่มีต่อมทั้งที่ขอบใบและแผ่นใบ ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างของใบอ่อนมักมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงอยู่ทั่วไป หรือพบมากตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นร่องทางด้านบน ด้านล่างนูนเด่นชัดและมีเส้นใบย่อยเชื่อมต่อถึงมุมหยักซี่ฟัน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่นหรือคล้ายช่อซี่ร่ม มีทั้งช่อเดี่ยวหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ มีขนสั้นสีน้ำตาลแดง ก้านช่อยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ช่อย่อยมี ๑-๒ ช่อ ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๕ มม. ติดทน โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกเล็กมาก ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมด้านนอกมีขนประปรายและมีต่อมสีน้ำตาล ขอบมีขนครุย กลีบดอกสีขาวแกมสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๗ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเรียวแหลม มีต่อมเล็กสีแดงหนาแน่น และอาจมีต่อมสีดำประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน ด้านนอกมีต่อมโปร่งแสง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. ผิวมีต่อมโปร่งแสงรูปรีกระจายทั่วไป มี ๑ เมล็ด รูปคล้ายผล
จิงจ้ำชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม.
จิงจ้ำชนิดนี้มีลักษณะเด่นแตกต่างจากจิงจ้ำ ๑ตรงที่มีขอบใบหยักซี่ฟันถี่ และผิวใบทั้ง ๒ ด้าน มีต่อมสีน้ำตาลถึงสีดำจำนวนมากเห็นชัดเจน.