กล้องเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. โคนอาจมีรากค้ำขนาดเล็ก เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาว สีน้ำตาลดำ มีรอยแผลใบชัดเจนที่ปลายกิ่ง เปลือกในสีเหลืองอมส้มถึงน้ำตาล กระพี้สีเหลืองอมน้ำตาลหรือสีงาช้าง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนที่ปลายกิ่ง ยอดอ่อนสีน้ำตาล ใบอาจยาวได้ถึง ๒ ม. ก้านใบประกอบยาว ๑๐-๒๐ ซม. โคนพองออก แกนกลางมักเป็นเหลี่ยม มีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาล ใบย่อยมีได้ถึง ๓๐ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๓-๓๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ ใบปลายมีลักษณะคล้ายใบอ่อนที่จะเจริญเป็นใบต่อไปหรืออาจร่วงไปโดยไม่เจริญเป็นใบ ใบคู่ล่างสุดเล็กกว่าคู่อื่นแผ่นใบย่อยด้านบนมีรอยย่น เกลี้ยงเป็นมัน ยกเว้นเส้นกลางใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล ด้านล่างมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๓๐ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดเจน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ยาวได้ถึง ๑ ม. ช่อมักห้อยลง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกบานสีขาวนวล กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลแดงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ มม. ปลายตัดหรือแยกเป็นแฉกสั้น ๓-๔ แฉก มีขนและมีเส้นสีแดงด้านนอก เกสรเพศผู้จำนวน ๑๐ อัน อาจพบมากกว่า ๑๐ อัน
ผลแบบผลแตกกลางพู สีน้ำตาลทอง กลมหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ ซม. มี ๓-๕ เมล็ด รูปรี ยาว ๓-๔ ซม. เปลือกเมล็ดชั้นนอกสีขาว
กล้องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้พบตามป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา)
ยอดอ่อนและผลมีขนที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง.