แตงกวา

Cucumis sativus L.

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสาะ (เขมร); แตงขี้ไก่, แตงขี้ควาย, แตงช้าง, แตงร้าน (เหนือ); แตงปี, แตงยาง (แม่ฮ่องสอน); แตงเห็น,
ไม้เลื้อยล้มลุก มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นมีขนสาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีเหลือง ดอกเพศผู้เป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ๒-๓ ดอก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก สุกสีออกขาว สีเขียว หรือมีสองแถบสี สีขาวหรือสีเขียวปนสีเหลืองออกน้ำตาล เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรี ขอบเป็นสันแหลม ผิวเรียบ มีจำนวนมาก

แตงกวาเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ยาวได้ถึง ๕ ม. มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นมีขนสาก

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๒๐ ซม. แยกเป็น ๕ แฉก แฉกกลางมีขนาดใหญ่สุดปลายแหลมเรียว โคนรูปหัวใจตื้น ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบมีขนห่าง ๆ เส้นโคนใบ ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีเหลืองดอกเพศผู้เป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ๒-๓ ดอก มีขน ก้านดอกยาว ๕-๒๐ ซม. ฐานดอกรูประฆังหรือรูปลูกข่าง ยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขน กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน มี ๕ กลีบ รูปแถบ ยาว ๔-๗ มม. โค้งออก กลีบดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น เกสรเพศผู้ ๓ เกสร แยกกันติดที่กึ่งกลางฐานดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาว ๒.๕-๓ มม. แกนอับเรณูยืดเรียวออก เรียบหรือแยกเป็น ๒ แฉก จานฐานดอกรูปคล้ายต่อม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๐.๒-๒ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ เกสร ขนาดเล็ก จานฐานดอกล้อมรอบโคนก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาว ๑-๒ ซม. มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. และมี ๓ พู

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก ยาว ๕-๒๐ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ปลายมน ผลอ่อนอาจมีต่อมขนกระจายทั่วไปผลสุกสีออกขาว สีเขียว หรือมีสองแถบสี สีขาวหรือสีเขียวปนสีเหลืองออกน้ำตาล เกลี้ยงหรือเป็นหนามสั้น ๆ ผนังผลชั้นนอกบาง ผนังผลชั้นกลางและชั้นในเป็นเนื้อสีออกขาวหรือสีเหลือง ก้านผลยาว ๑.๕-๔ ซม.


เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรี ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. ขอบเป็นสันแหลม ผิวเรียบ มีจำนวนมาก

 แตงกวาเป็นพืชปลูกทั่วโลก มีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัดสันนิษฐานว่ามีแหล่งกำเนิดทางตอนเหนือของอินเดียออกดอกและเป็นผลตลอดปี

 ประโยชน์ ปลูกทั่วไปเพื่อบริโภคผล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงกวา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cucumis sativus L.
ชื่อสกุล
Cucumis
คำระบุชนิด
sativus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสาะ (เขมร); แตงขี้ไก่, แตงขี้ควาย, แตงช้าง, แตงร้าน (เหนือ); แตงปี, แตงยาง (แม่ฮ่องสอน); แตงเห็น,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์