แตงกลม

Pilogyne bodinieri (H. Lév.) W. J. de Wilde et Duyfjes

ไม้เลื้อยกึ่งล้มลุก มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ มักออกร่วมกับดอกเพศเมียที่เจริญอยู่ก่อน สีขาวหรือสีนวล ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีเขียว สุกสีแดง ผลเมื่อแห้งผิวเป็นหลุมหรือตาข่าย เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรีแคบ ขอบแคบเห็นชัดเจน ผิวเรียบ มีจำนวนมาก

แตงกลมเป็นไม้เลื้อยกึ่งล้มลุก ยาว ๒-๖ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมเรียว โคนตัดหรือรูปหัวใจกว้าง ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบพบน้อยมากที่มีแฉกตื้น ๆ ด้านบนมีขนสาก เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๒-๕ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. แต่ละช่อมี ๓-๑๐ ดอก


มักออกร่วมกับดอกเพศเมียที่เจริญอยู่ก่อนก้านดอกยาว ๑-๔ มม. ติดทน ใบประดับด้านนอกรูปแถบ ขนาดเล็ก ยาว ๑-๕ มม. ร่วงง่าย ฐานดอกเป็นหลอดรูประฆัง กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านในมีขนยาว หนาแน่นที่คอฐานดอก ปากหลอดกว้างประมาณ ๒.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียว รูปแถบแคบ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. โค้งออก กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีนวล รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายค่อนข้างแหลม ด้านในกลีบดอกและส่วนปลายมีขน เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดที่กึ่งกลางหลอดฐานดอกหรือต่ำกว่า ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนที่ยาวประมาณกึ่งกลางก้าน อับเรณูเป็นรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูมีขน พูอับเรณู ๒ พู โค้งจนเกือบเป็นวงแหวนจานฐานดอกรูปกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว พบน้อยที่มี ๒-๓ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้ แต่กลีบดอกมีขนาดใหญ่กว่า กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. เกสรเพศผู้เป็นหมันมี ๓ เกสร เรียว ยาวประมาณ ๒ มม. ส่วนโคนติดที่หลอดฐานดอกจานฐานดอกรูปกลมแบน สูงประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ช่วงคอยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. มี ๓ พู ผิวมีปุ่มเล็ก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๒ ซม. เกลี้ยง สีเขียว สุกสีแดงผลเมื่อแห้งผิวเป็นหลุมหรือตาข่าย ก้านผลยาว ๐.๓-๑ ซม. เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรีแคบ กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบแคบเห็นชัดเจน ผิวเรียบ มีจำนวนมาก

 แตงกลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบในพื้นที่ที่ถูกรบกวน ตามชายป่า และป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงกลม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pilogyne bodinieri (H. Lév.) W. J. de Wilde et Duyfjes
ชื่อสกุล
Pilogyne
คำระบุชนิด
bodinieri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Léveillé, Augustin Abel Hector
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Léveillé, Augustin Abel Hector (1863-1918)
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald (1936-)
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth (1936-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์