เต็ง

Shorea obtusa Wall. ex Blume

ชื่ออื่น ๆ
แงะ (เหนือ); จิก (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เน่าใน (แม่ฮ่องสอน); ประจั๊ต (เขมร-บุรีรัมย์); ประเจิ๊ก (เขมร
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาว เกือบทุกส่วนมีขนกระจุกสั้นและขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก มีหูใบหุ้มยอดอ่อนรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์สั้น พับงอกลับ มีขนเครา ๒-๔ เส้น ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่ มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย ปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

เต็งเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๓๐ ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาว เกือบทุกส่วนมีขนกระจุกสั้นและขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๑๒ ซม. ยาว ๔-๒๐ ซม. ปลายมนหรือมนกลม ปลายสุดเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่มกว้าง มนกลม หรือเว้าตื้น ขอบเรียบ แผ่นใบอาจเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบแบนราบทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบหลักข้างละ ๑๒-๒๒ เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เรียงถี่ ตามซอกเส้นแขนงใบมีตุ่มใบกลวงเป็นขน ใบแก่ก่อนร่วงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีหูใบหุ้มยอดอ่อนรูปขอบขนาน ยาว ๕-๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาว ๔-๑๗ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ช่อแขนงยาวได้ถึง ๗ ซม. ช่อดอกย่อยยาวได้ถึง ๔ ซม. มี ๔-๘ ดอก มีกลิ่นหอมอ่อน ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกตูมรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๐.๗-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน เรียงซ้อนเหลื่อม รูปสามเหลี่ยมกว้าง กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปแถบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้มีประมาณ ๓๐ เกสร เรียงเป็น ๓ วง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๖ มม. แผ่ขยายช่วงโคน ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์รูปเส้นด้าย ยาวพ้นอับเรณูเล็กน้อย พับงอกลับ มีขนเครา ๒-๔ เส้น อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๐.๓ มม. ติดที่ฐาน แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่และฐานก้านยอดเกสรเพศเมียทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. คอดเว้าเล็กน้อยบริเวณกึ่งกลาง รังไข่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมักมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก หยักเป็นพู เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ปลายมีติ่งแหลม ยาวประมาณ ๕ มม. ก้านผลยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย ปีกยาว ๓ ปีก กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๔-๕ ซม. ปีกสั้น ๒ ปีก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. โคนกลีบป่องพองคล้ายถุงหุ้มผลประมาณครึ่งของผล เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 เต็งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ พบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงและทนทาน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต็ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Shorea obtusa Wall. ex Blume
ชื่อสกุล
Shorea
คำระบุชนิด
obtusa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
แงะ (เหนือ); จิก (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เน่าใน (แม่ฮ่องสอน); ประจั๊ต (เขมร-บุรีรัมย์); ประเจิ๊ก (เขมร
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา