เติมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. ผลัดใบช่วงสั้นออกดอกเมื่อแตกใบอ่อน โคนมักมีพูพอน เรือนยอดแน่นลำต้นคดงอ เปลือกบาง สีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมแดงเมื่อแก่สีเข้มขึ้นและแตกเป็นเกล็ด มียางสีแดง
ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ ใบ เรียงเวียน ใบย่อยส่วนมากรูปรี รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนทู่หรือสอบแคบ ขอบหยักคล้ายฟันเลื่อยแหลมหรือทู่ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังแต่บาง ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม แก่จัดสีแดงสด เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนมักพบต่อม ๒ ต่อมคล้ายซี่ฟันที่ปลายก้านใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น แต่ละเส้นเชื่อมต่อกันเป็นวงใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๕.๕-๑๖.๕ ซม. ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๖.๕ ซม. ก้านใบย่อยใบกลางยาวกว่าก้านใบย่อยด้านข้าง หูใบรูปเคียว กว้างประมาณ ๑.๗ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. บางคล้ายกระดาษ ร่วงเร็ว
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแคบ ออกตามซอกใบและใต้แผลใบเล็กน้อย ช่อยาว ๗-๓๐ ซม. ใบประดับรูปใบหอก ขนาด ๑-๓.๕ มม. ร่วงเร็วดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกัน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. ตาดอกสีแดง ดอกบานสีอมเหลืองก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. สีเขียวอ่อน ปลายมน มีขนประปราย ฐานดอกนูนสูงประมาณ ๐.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร แยกกัน
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมกว้างยาว ๐.๗-๑ ซม. ออกเป็นช่อห้อย ยาวได้ถึง ๓๒ ซม. สีเขียวเข้ม แก่สีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลอมเหลือง ผนังชั้นนอกหนาคล้ายหนัง ผนังชั้นในแข็งเปราะ แก่ไม่แตกเมล็ดทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓.๒ มม. ยาวประมาณ ๔.๒ มม. หนาประมาณ ๓ มม. มี ๒-๔ เมล็ด เกลี้ยง เป็นมันเงา มีเนื้อหุ้ม
เติมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ ตั้งแต่ป่าดิบชื้นถึงป่าดิบแล้งป่าสมบูรณ์ถึงป่าที่ถูกแผ้วถาง หรือตามหมู่บ้าน มักขึ้นใกล้น้ำหรือที่ชื้น ตามชายป่า หรือสองข้างทาง ตามเขาหินปูน หรือตามหน้าผา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นคาบสมุทรมาเลเซีย ภูมิภาคมาเลเซีย ถึงออสเตรเลีย
ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร ผลกินได้ มีรสเปรี้ยวเนื้อไม้ใช้ทำฟืนและทำรั้ว เปลือกหรือยางใช้ย้อมผ้า.