ชำมะนาดเป็นไม้รอเลื้อย ทุกส่วนมียางสีขาวตามกิ่งก้านมีช่องอากาศเป็นจุดกลมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป กิ่งแขนงเกลี้ยงหรือมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๔-๙.๕ ซม.ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน เว้าตื้น กลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนมน สอบเรียว หรือเป็นรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างบาง เกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๓ ซม. ต่อมที่ซอกโคนก้านใบรูปเรียวยาว
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ทั้งช่อยาว ๓-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกสั้น บางครั้งเชื่อมติดกับกิ่งเล็กน้อย แกนช่อมีขนทั่วไป ใบประดับรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอมแรงและมีจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปแถบ กว้าง ๑.๑-๑.๗ มม. ยาว ๔-๖ มม. ปลายแหลมแผ่ออกหรือโค้งกลับลงมา ด้านนอกมีขน กลีบดอกสีขาว สีนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวแกมเขียว
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่โคนเชื่อมติดกันคล้ายเขาวัว เนื้อผลนุ่ม เมื่อผลแก่จะแตกตามแนวยาว ภายในมีเมล็ดจำนวนมากรูปทรงรี มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลาย
ชำมะนาดเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมมักไม่ติดผล
ประโยชน์ ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นใบเตย ใช้ทำน้ำอบไทยดอกไม้สด เป็นเครื่องอบในแป้งร่ำ และเครื่องหอมต่าง ๆ นอกจากนี่ยังใช้ประกอบอาหารไทย เช่น น้ำสำหรับข้าวแช่ อบร่ำขนมไทย หรืออาจใช้น้ำดอกชำมะนาดหุงข้าวสวยให้มีกลิ่นหอม ยางใช้รักษาแผล.