ขี้หนอน

Zollingeria dongnaiensis Pierre

ชื่ออื่น ๆ
ขี้มอด (นครราชสีมา, ขอนแก่น)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกเล็ก สีขาว มีจานฐานดอกล้อมรอบเกสรเพศผู้ ผลแบบผลแห้งแตก มีปีก ๓ ปีก มี ๑ เมล็ด

ขี้หนอนเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๑๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. แกนกลางยาว ๑๑.๕-๑๔ ซม. แกนกลางและก้านใบมีขน มีใบย่อย ๔-๑๐ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๑.๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนเบี้ยวหรือมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๖ มม. ใบอ่อนด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น ใบแก่ด้านบนมีขนตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และขอบใบ ด้านล่างมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาว ๑๕-๒๐ ซม. แกนช่อมีขนหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขน ดอกย่อยขนาดเล็ก สมบูรณ์เพศ สีขาว ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปขอบขนาน ปลายมน มีขนตามขอบกลีบและบริเวณโคนกลีบด้านใน ๒ กลีบในยาวกว่า ๓ กลีบนอก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ปลายแหลม ขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านกลีบดอกสั้น โคนกลีบด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๘ อัน ก้านชูอับเรณูมีขน จานฐานดอกล้อมรอบเกสรเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่รูปสามเหลี่ยมเป็นสัน ๓ สัน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก มีปีก ๓ ปีก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. มี ๑ เมล็ด

 ขี้หนอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้หนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zollingeria dongnaiensis Pierre
ชื่อสกุล
Zollingeria
คำระบุชนิด
dongnaiensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้มอด (นครราชสีมา, ขอนแก่น)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา