เคี่ยมคะนอง

Shorea henryana Pierre

ชื่ออื่น ๆ
เชื่อม (นครราชสีมา, สระบุรี); พนอง (ตะวันออกเฉียงใต้); ชันรุ่ง, สยา (สงขลา); เคียนทราย (ระนอง, พังงา
ไม้ต้น มีพูพอน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เส้นกลางใบด้านบนเป็นสันนูนเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง และซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ดอกสีขาวผลแบบผลเปลือกแข็ง รูปทรงรีมีขนสั้นหรือเกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

เคี่ยมคะนองเป็นไม้ต้น สูง ๓๐-๔๐ ม. ที่โคนมีพูพอนขนาดใหญ่ เปลือกนอกสีนํ้าตาลแก่หรือสีนํ้าตาลปนเทา แตกเป็นร่องตามยาว เปลือกในสีส้มหรือสีเหลืองอ่อน ตา ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอกและกลีบเลี้ยง มีเกล็ดสีขาวคล้ายขุยและมีขนกระจุกสีนํ้าตาลแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนรูปลิ่มกว้างหรือมนขอบเรียบ ใบอ่อนมีขนนุ่มทางด้านล่าง ใบแก่เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง เส้นกลางใบด้านบนเป็นสันนูนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น เรียงขนานกัน ปลายเส้นโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ร่วงช้า มีขนสั้นนุ่ม ทั้ง ๒ ต้าน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. ดอกตูมรูปรี ยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ บิดเวียน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๓ ซม. เกสรเพศผู้มีประมาณ ๒๕ เกสรโคน


ก้านชูอับเรณูแผ่กว้าง อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมีรยางค์รูปเส้นด้าย ยาว ๓-๔ มม. มีขนสั้นนุ่มช่วงบน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด มีฐานก้านยอดเกสรเพศเมียและมีขนสั้นนุ่ม ก้านยอดเกสรเพศเมียรวมฐานยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลเปลือกแข็ง รูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีขนสั้นหรือเกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีก ๕ ปีก โคนปีกหนาปีกยาว ๓ ปีก รูปใบพาย กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๙-๑๐ ซม. ปีกสั้น ๒ ปีก รูปใบหอก กว้างไม่เกิน ๑ ซม. ยาว ๖-๗ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 เคี่ยมคะนองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายูเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เคี่ยมคะนอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Shorea henryana Pierre
ชื่อสกุล
Shorea
คำระบุชนิด
henryana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
เชื่อม (นครราชสีมา, สระบุรี); พนอง (ตะวันออกเฉียงใต้); ชันรุ่ง, สยา (สงขลา); เคียนทราย (ระนอง, พังงา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา