จิงจ้อเหลืองเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย มีขนยาวหนาแน่นกางตั้งฉากกับลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปเกือบกลม กว้าง ๔-๑๕.๕ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ขอบหยักเว้าเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๕-๗ แฉก พบน้อยที่มี ๓ แฉก แต่ละแฉกปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ รูปเงี่ยงลูกศร หรือรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันเล็กน้อย แผ่นใบมีขนสั้นหนาแน่นหรือประปรายทั้ง ๒ ด้าน หรือผิวใบด้านบนเกลี้ยงกว่าด้านล่าง ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว ๒-๗ ซม. มีขนยาวกางตั้งฉากกับก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๒ ซม. มีขนยาวประปรายกางตั้งฉากกับก้านช่อดอกค่อนข้างหนาแน่น ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนยาวประปราย ใบประดับขนาดเล็ก รูปแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกสีเหลืองเข้ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. มักมีขนยาวประปราย โดยเฉพาะกลีบนอกสุด ๒ กลีบ กลีบใน ๓ กลีบ อาจเกลี้ยงกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๔-๖ ซม. ปลายผายกว้างออก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๕ ซม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมแป้น กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. สีเหลืองอมน้ำตาล เกลี้ยง เรียบไม่มีรอยย่น ค่อนข้างโปร่งแสง เมล็ดสีดำ ยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง มี ๔ เมล็ด
จิงจ้อเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณพื้นที่รกร้าง ริมทาง ริมฝั่งคลอง และตามชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมาจีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.