ขี้มิ้นเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ ม. กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นตรง เปลือกสีเทาอ่อน เรียบหรือแตกเป็นร่องตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับหรือรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ มน หรือเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ส่วนทางด้านล่างสีเขียวอ่อนและออกสีน้ำตาลแดงเมื่อแห้ง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายโค้งอ่อนไปสุดที่ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีหูใบระหว่างก้านใบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ร่วงง่ายยกเว้นคู่ปลายกิ่ง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน ๓ ช่อ ตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางช่อประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านช่อยาว ๒-๓.๕ ซม. มีขนประปราย ดอกเล็ก รูปดอกเข็ม กลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวยปลายแยกเป็น ๕ แฉก ทั้งหมดยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน ๕ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดบริเวณใกล้ปากหลอดกลีบดอกด้านในและสลับกับแฉกกลีบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้ง รูปรีหรือสอบแคบ เรียงชิดกันเป็นกลุ่มกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ก้านช่อผลยาวเท่ากับก้านช่อดอก และมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล
ขี้มิ้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ตามป่าดิบหรือชายป่าเหล่า ขึ้นใกล้แหล่งน้ำและต้องการแสงมาก ที่สูงจากน้ำทะเล ๕๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน ในต่างประเทศพบที่ภาคใต้ของประเทศจีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในร่ม.