กล้วยฤๅษี

Diospyros glandulosa Lace

ชื่ออื่น ๆ
จันป่า (เชียงใหม่), มะเขือเถื่อน (เลย), เหล่โกมอ (เงี้ยว-เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามง่ามใบ สีขาวหรือชมพู ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ดอกเพศเมียออกเดี่ยว กลีบเลี้ยงติดทน ขยายใหญ่รองผล ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดค่อนข้างกลมแป้น

 กล้วยฤาษีเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่กลับกว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนนุ่มและหลุดร่วงเมื่อแก่ ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น นูนเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนนุ่ม

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามง่ามใบ สีขาวหรือชมพูดอกเพศผู้ออกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ แบบช่อกระจุก ก้านดอก ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอกเลี้ยง ๔ กลีบ โคนติดกันเล็กน้อย ขอบกลีบเรียงชิดกันคล้ายรูประฆัง ยาว ๔-๖ มม. มีขนเป็นมันคล้ายไหมทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นดอกรูปคนโท ยาว ๖-๘ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนตาม แนวกลางแฉก เกสรเพศผู้ ๑๔-๓๐ อัน มีรังไข่ไม่สมบูรณ์ติดอยู่


ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. มีขนนุ่มกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงติดทน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนนุ่ม มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๔ แฉก มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๑๒ อัน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ค่อนข้างกลมแป้น กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. มีกลีบเลี้ยงเจริญ ขยายใหญ่รองผล มีขนสีน้ำตาลหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน และเห็นเส้นลายกลีบชัดเจน ปลายกลีบกางออกหรือแนบผล ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ก้านผลยาว ๓-๕ มม. มีขน

 กล้วยฤาษีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบเขาและทุ่งหญ้าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๕๐-๑,๖๕๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ผลแก่ประมาณเดือนกันยายนถึงธันวาคม ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า แห อวน ผลสุกกินได้ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยฤๅษี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros glandulosa Lace
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
glandulosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lace, John Henry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1857-1918)
ชื่ออื่น ๆ
จันป่า (เชียงใหม่), มะเขือเถื่อน (เลย), เหล่โกมอ (เงี้ยว-เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์