เต่าไห้ขนเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพันหรือทอดเลื้อย มียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งอ่อนมีขนยาวนุ่มสีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐.๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนกลมหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายโค้งจดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๒.๕-๙ มม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๒-๓ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๐.๗-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๓.๕ มม. ใบประดับย่อยรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๗-๓ มม. ปลายมนหรือมนกลม มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒.๕-๓.๕ มม. บริเวณกลางหลอดป่องเล็กน้อย ภายในมีขนสั้นนุ่มประปรายทางช่วงบน ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑.๘-๒.๘ มม. ขอบมีขนครุย แฉกกลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวา ด้านนอกบริเวณที่ไม่ซ้อนกันมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดดอกบริเวณที่ป่อง ก้านชูอับเรณูสั้นมากอับเรณูรูปทรงรี เกาะแนบกับยอดเกสรเพศเมีย จานฐานดอกแยกลึกเป็นแฉกแคบ ๆ ๕ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒ รังไข่ แยกจากกัน ขนาดประมาณ ๐.๖ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ปลายแหลม
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ กางออกจากกัน รูปทรงกระบอกแคบ และมักมีส่วนคอดเป็นระยะห่าง ๆ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๖-๑๙ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยงและผลมักจะโค้งลง ปลายสอบเรียว เมล็ดรูปทรงรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. มีจำนวนมาก ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีนวล ยาว ๒-๓ ซม.
เต่าไห้ขนเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตามพื้นที่ดินปนทรายในที่โล่งป่าผลัดใบหรือป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน.