เคี่ยมเป็นไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปเจดีย์ต่ำ ลำต้นตรง เปลือกสีเทาหรือสีเทาอมดำ เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในสีน้ำตาลอมเหลืองและมักมีเส้นสีชมพูแทรก กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล เนื้อไม้มักบิด แข็งและเหนียวมาก สีน้ำตาลอ่อน ทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายแหลมโคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขนกระจุกสีนํ้าตาลอ่อนทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นลัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านบนก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. หูใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๐ ซม. ทุกส่วนมีขนสีเทานุ่ม ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาว ๒ กลีบ และสั้น ๓ กลีบ โคนติดกันเล็กน้อย มีขนนุ่มหนาแน่นทางด้านนอก กลีบดอก ๕ กลีบ บิดเวียน รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร ยาวไล่เลี่ยกัน เรียงเป็น ๓ วงรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มีขนนุ่มหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวปลายแยก เป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลเปลือกแข็งแห้งไม่แตก มีปีกที่เจริญ มาจากกลีบเลี้ยง ตัวผลรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. มีขนสีเทานุ่มหนาแน่นกลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว ๒ ปีก รูปใบหอกกลับหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. มีเส้นตามยาว ๕ เส้น และปีกสั้น ๓ ปีก รูปใบหอก ยาวประมาณ ๑ ใน ๓ ของปีกยาว เมล็ดรูปคล้ายผลแต่มีขนาดเล็กกว่า
เคี่ยมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทาง ภาคใต้ มักขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและบรูไน
ประโยชน์ ไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ทนแดดทนฝนดอกให้น้ำหวานใช้เลี้ยงผึ้ง.