จิงจ้อเหลี่ยม

Operculina turpethum (L.) Silva Manso

ชื่ออื่น ๆ
จิงจ้อ, จิงจ้อแดง (ทั่วไป)
ไม้เลื้อยล้มลุก ทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยมและมีร่อง มีครีบแคบ ๓-๕ ครีบ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปเกือบกลม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกแบบฝาเปิดรูปทรงกลมแป้น มีกลีบเลี้ยงติดทน คล้ายทรงรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม สีดำ มี ๔ เมล็ด

จิงจ้อเหลี่ยมเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยมและมีร่อง มีครีบแคบ ๓-๕ ครีบ ส่วนที่ยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีม่วงปนแดงหรือสีน้ำตาล เกลี้ยงหรือมีขนประปราย โดยเฉพาะที่ข้อ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่ รูปไข่รูปไข่กว้าง หรือรูปเกือบกลม กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือมน โคนรูปหัวใจเว้าลึกหรือตื้น มน หรืออาจพบรูปเงี่ยงใบหอกบ้าง ขอบเรียบหรืออาจพบเว้าเป็นพู ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปรายแนบไปกับแผ่นใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว ๑-๗.๕ ซม มีขน พบบ้างที่มีครีบแคบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑-๑.๕ ซม. อาจมีครีบเช่นเดียวกับที่ลำต้น มีขน ก้านดอกเป็นเหลี่ยมยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ใบประดับรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายเป็นติ่งหนาม ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ร่วงง่าย ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โค้งกลีบนอก ๒ กลีบ สีเขียวปนแดง รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม สั้น ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบใน ๓ กลีบ สีเขียว รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น มีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๔-๔.๕ ซม. ปลายหลอดผายกว้างออก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๔.๕ ซม. ปลายสุดเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก มีแถบกลางกลีบ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เท่ากัน โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดที่โคนหลอด โคนก้านกว้างกว่าปลาย และมีขนประปรายอับเรณูมีต่อมกระจายทั่วไป เมื่อแตกบิดเป็นเกลียว จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกแบบฝาเปิด รูปทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่คล้ายรูปถ้วยหุ้มรอบผล ผนังผลชั้นนอกแตกตามขวางเป็นฝาเปิดออกตรงเกือบกึ่งกลางผลแยกออกจากส่วนล่างของผลและจากผนังผลชั้นใน ผนังผลชั้นในบาง แห้งและใส ปริแยกไม่เป็นระเบียบ เมล็ดคล้ายทรงรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๖ มม. สีดำ เกลี้ยง มี ๔ เมล็ด

 จิงจ้อเหลี่ยมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ พบตามที่โล่งแจ้ง ที่รกร้างข้างทางและในป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๕-๒๕๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาเขตร้อน เอเชียเขตร้อน ออสเตรเลียเขตร้อนและหมู่เกาะโปลินีเซีย

 ประโยชน์ ต้นและรากเป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิงจ้อเหลี่ยม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Operculina turpethum (L.) Silva Manso
ชื่อสกุล
Operculina
คำระบุชนิด
turpethum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Silva Manso, António Luiz Patricio da
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Silva Manso, António Luiz Patricio da (1788-1848)
ชื่ออื่น ๆ
จิงจ้อ, จิงจ้อแดง (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา