กล้วยไม้ฟันงู

Hoya multiflora Blume

ชื่ออื่น ๆ
ฉมวกปลาวาฬ
ไม้พุ่มอิงอาศัย ทุกส่วนมียางขาว ใบค่อนข้างบาง เรียงตรงข้าม รูปรี ปลายและโคนแหลม เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ห้อยลง แต่ละช่อมี ๑๐-๒๐ ดอก ดอกสีขาวนวล รูปคล้ายกรวยคว่ำหรือคล้ายฉมวก

 กล้วยไม้ฟันงูเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย เกิดเป็นต้นเดี่ยวไม่ค่อยแยกสาขา หรือเกิดเป็นกลุ่มจากเหง้าเดียวกันหลายต้น สูง ๓๐-๖๐ ซม. มียางขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีค่อนข้างยาว กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายและโคนแหลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเหนียว เส้นกลางใบเห็นได้ชัดทั้งทางด้านบนและด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ห้อยลง ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๗ ซม. แต่ละช่อมี ๑๐-๒๐ ดอก บานพร้อมกันทั้งช่อ ดอกลักษณะคล้ายกรวยคว่ำหรือคล้ายฉมวก กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ก้านดอก ยาว ๓.๕-๗ ซม. มักยาวกว่าก้านช่อดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ ขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวนวล โคนติดกันประมาณ ๑ ใน ๓ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ลึกและโค้งพับลงไปทางก้านดอกตรงบริเวณที่โค้งลงมีขนสีขาวสั้นและนุ่มโดยรอบ ขอบแฉกม้วนงอเข้าด้านใน ปลายแฉกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เกสรเพศผู้โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๔ มม. ชูเส้าเกสรขึ้นสูงเหนือกลีบดอก เส้าเกสรประกอบด้วยรยางค์ ๕ อัน สีขาวรูปคล้ายกระสวย ติดกันทางด้านข้างและเรียงตัวอยู่ในแนวเกือบตั้งตรง รูปคล้ายโดม ปลายด้านบนโค้งงอเข้าหากันปลายด้านล่างโค้งกางออกเล็กน้อย อับเรณูอยู่ใต้เส้าเกสรช่วงบน กลุ่มเรณูเป็นแผ่น สีเหลืองใส ติดเป็นคู่ ก้านกลุ่มเรณูใสและสั้น แผ่นยึดก้านสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ รังไข่ ๒ อัน แยกจากกัน แต่ละอันมี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดกัน

 ฝักรูปทรงกระบอก ยาว ๑๐-๒๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. ปลายสอบ ฝักแก่แตกแนวเดียวมีเมล็ดจำนวนมาก มีขนยาวเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง

 กล้วยไม้ฟันงูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบบ้างทางภาคใต้ เป็นไม้ประดับที่สวยงามชนิดหนึ่ง ออกดอกปีละครั้งประมาณเดือนกันยายน ในต่างประเทศพบทางตอนใต้ของจีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยไม้ฟันงู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hoya multiflora Blume
ชื่อสกุล
Hoya
คำระบุชนิด
multiflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ฉมวกปลาวาฬ
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง