เต่าทองเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนหินเจริญทางด้านข้าง เหง้าสีเขียวหรือสีน้ำตาลเข้ม รูปทรงกระบอก แข็ง กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๔-๖ มม. รากสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน เรียวยาวและแข็ง มีจำนวนมาก ออกเป็นกระจุกตามเหง้าใกล้โคนหัวเทียม หัวเทียมตั้งตรงหรือเอียง ขึ้นห่าง ๆ กันบนเหง้า สีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอมน้ำตาล รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๘ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. อวบน้ำและแบนด้านข้างเล็กน้อย ผิวย่นและเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว
ใบเดี่ยว มี ๒-๕ ใบ ออกที่กลางถึงปลายยอดหัวเทียม เรียงสลับ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๖ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันหรือสีเขียวอมเหลือง ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มักพับกลางตามแนวยาว เส้นใบเห็นไม่ชัด กาบใบมีลักษณะคล้ายเยื่อสีขาวหรือสีนวลแกมสีน้ำตาลอ่อน หุ้มตลอดหัวเทียม มักหลุดร่วงไปเมื่อแก่
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่โคนหัวเทียม ตั้งตรงหรือเอียง ทั้งช่อยาว ๒๕-๔๑ ซม. แต่ละช่อมี ๔-๑๒ ดอก เรียงเวียนตามแกนช่อ ก้านช่อและแกนช่อสีส้มแกมสีน้ำตาล ก้านช่อยาว ๒๐-๒๒ ซม. แกนช่อยาว ๕-๑๙ ซม. ทั้งก้านช่อและแกนช่อมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงปกคลุม ใบประดับสีเขียวอมเหลือง รูปใบหอกหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๑-๒ ซม. ปลายแหลมหรือเว้าเป็น ๒ แฉกไม่เท่ากัน โคนรูปลิ่มเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ใบประดับย่อยสีเหลืองอมส้มหรือสีแสดเห็นเด่นชัด รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๐.๘-๑.๗ ซม. ยาว ๒.๗-๔ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว มีขนนุ่มสีขาวประปรายทั้ง ๒ ด้าน ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๓-๔ ซม. มีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงประปรายถึงหนาแน่น ดอกสีขาวแกมสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาลอ่อน ทยอยบานจากด้านล่างขึ้นไปด้านบนเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๙-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนรูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๒-๒.๔ ซม. ปลายมนหรือแหลม
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
เต่าทองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พบขึ้นตามต้นไม้หรือซอกหินปูนที่มีใบไม้ทับถม ตามลานหิน ป่าดิบเขาต่ำ ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.